เปิดเคล็ดลับทำ"ซับไตเติ้ล"หนังไทย

ศิลปะ-บันเทิง
10 มี.ค. 56
14:02
2,357
Logo Thai PBS
เปิดเคล็ดลับทำ"ซับไตเติ้ล"หนังไทย

นอกจากความรู้ทางไวยากรณ์และคำศัพท์ภาษาอังกฤษแล้ว การรักษาความหมายของบทภาพยนตร์ให้ได้มากที่สุดแม้มีข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม คือหัวใจสำคัญของผู้แปลบทภาพยนตร์ ที่นำมาแลกเปลี่ยนในงานเสวนาวิชาการการแปลบทภาพยนตร์ ตอนเคล็ดลับทำซับอังกฤษ

บทสนทนาระหว่างนักเรียนชาย 2 คนที่ดูเหมือนกับการให้คำปรึกษาด้านความรัก ที่ลงเอยด้วย "เน" รุ่นพี่ อาสาสวมบทบาทเป็นหญิงสาว เพื่อให้ "บีม" รุ่นน้อง ลองจินตนาการว่ากำลังพูดคุยกับคนในดวงใจอยู่ตรงหน้า หากความจริงแล้วนี่คือการแสดงออกทางความรักของทั้งสองผ่านการเล่นบทบาทสมมติ การตีความที่ต้องอาศัยความเข้าใจในตัวละคร และรักษาความหมายของภาพยนตร์ให้ถูกต้องมากที่สุด คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการแปลบทภาพยนตร์ ที่ผู้แปลไม่เพียงต้องมีความรู้ด้านไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี แต่ยังต้องเข้าใจหนัง น้ำเสียงผู้พูด และรู้จักวิธีแปลที่เหมาะสม ส่วนหนึ่งของการแปลภาพยนตร์ไทยเป็นบทบรรยายภาษาอังกฤษ ที่นำมาพูดคุยในวงเสวนาวิชาการ การแปลบทภาพยนตร์ ตอนเคล็ดลับทำซับอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า "ซับเป็นแค่ส่วนประกอบภาพ ที่สำคัญที่สุดคือรักษาความหมายสิ่งที่ตัวละครจะพูด ต้องเข้าใจอารมณ์คนที่พูดเข้าใจความหมายตรง ความหมายซ้อน ของประโยคที่พูด ไม่ใช่แปลไปเฉยๆ ในจอมีอะไรบ้าง ภาพ เสียง ซับ สายตาคนดูอยู่ไหน มันต้องรักษาความหมาย คงไว้ซึ่งเรื่อง ขณะเดียวกันก็เป็นแค่ส่วนประกอบ มันจะมากเกินหนังไม่ได้ ยาวเกินไป เร็วเกินไปก็ไม่ได้ มันเป็นเกร็ด องค์ประกอบรายรอบซึ่งคนแปลต้องเข้าใจ"

ขณะที่บทพูดใน ภาพยนต์เรื่อง "หนังชั่วฟ้าดินสลาย"ที่ตัวเอกพุดว่า"เป็นความผิดของดิฉันเอง ดิฉันขอโทษ" คำพูดที่ยุพดีร่ำไห้กับ พะโป้ สามี ว่าตนแท้งลูก ที่เมื่อแปลบทบรรยายเป็นภาษาอังกฤษแล้วต้องแปลประโยคฉันขอโทษ หรือ I'm Sorry ไว้ท้ายสุด เพื่อไม่เฉลยคำพูดก่อนตัวละคร แม้ความจริงจะขัดกับวิธีการพูดของเจ้าของภาษาที่ขึ้นด้วยคำขอโทษก่อน คือวิธีคิดและลักษณะทางภาษาที่ต่างกันระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ผู้แปลต้องทำความเข้าใจ มิฉะนั้นจะทำให้หนังเสียอรรถรส คำแสลงในภาษาใดภาษาหนึ่ง รวมทั้งอุปสรรคทางวัฒนธรรม ทำให้บางวลีหรือบางคำพูดหลายครั้งไม่สามารถแปลออกมาได้ทั้งหมด หากหน้าที่ของผู้แปลก็ต้องรักษาความหมายโดยรวมของภาพยนตร์เอาไว้ให้ได้

ก้อง ฤทธิ์ดี  กล่าวเสริมว่า "เรามีหน้าที่ถ่ายทอดผ่านอีกสื่อคือภาษา ขณะเดียวกันเราต้องคิดถึงคนดู ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจอยู่ ตัวละครหรือว่าเรื่องมันดำเนินถึงจุดใดและแค่ไหน สิ่งที่ควรแปลก็ไม่ควรทรยศกับความรู้สึกคนดู ถ้าเราไปเฉลยก่อน จุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสิ่งที่เราต้องคิดเสมอ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีทางที่บางมุขตลกจะแปลได้ สุภาษิต คำพูดที่อ้างอิงถึงบางอย่างในเมืองไทย แล้วคนที่ไม่ใช่เมืองไทยดูจะเข้าใจ เราก็พยายามแต่มันก็สูญหายไป โดยพื้นฐานที่สุดคือ มันต้องรักษาความหมายของหนัง ถ้าเสียสีสันก็ต้องเสีย"

เพราะภาพคือองค์ประกอบสำคัญในภาพยนตร์ ซับไตเติ้ลหรือบทบรรยายไม่ควรยาวไม่เกิน 2 บรรทัด ด้วยธุรกิจของวงการภาพยนตร์ที่เร่งรีบ และกระบวนการหลังถ่ายทำ (Post Production) ที่มากมาย ผู้แปลบทบรรยายภาษาอังกฤษจึงต้องทำงานภายใต้เวลาอันจำกัดอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งอาชีพนี้ไม่มีบรรณาธิการคอยตรวจเช็คความถูกต้องอย่างงานด้านภาษาอื่น ๆ จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบสูง แม้การวิจารณ์หนังได้อาจเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้แปลบางคน หากหัวใจที่สำคัญมากที่สุด คือการเข้าใจความหมายของภาพยนตร์และถ่ายทอดผ่านบทแปลให้มีความถูกต้องมากที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง