"จับตา" ความร่วมมือทางการเมืองกับร่างกฎหมาย "นิโทษกรรม"

11 มี.ค. 56
13:17
76
Logo Thai PBS
"จับตา" ความร่วมมือทางการเมืองกับร่างกฎหมาย "นิโทษกรรม"

การเปิดหารือแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม 11 ฝ่าย ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์การเมืองเมื่อปี 2553 โดย 2 ใน 11 ฝ่าย คือ กลุ่มการเมือง 2 ขั้ว และเมื่อประมวลเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เข้าร่วมหารือ จะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์,กลุ่มพันธมิตรฯ,องค์การพิทักษ์สยาม และกลุ่มเสื้อหลากสี ต่างไม่ได้รับประโยชน์จากผลการบังคับใช้กฎหมายนิรโทษกรรม และออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.กำลังสวมบทบาท 2 บทบาทในเวลาเดียวกัน

โดยเมื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จะพบว่า แนวร่วมและแกนนำ นปช. รวมถึงรัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ต่างตกเป็นจำเลยในคดีที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีลักษณะที่เข้าข่ายว่า เป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ซึ่งอาจจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมโดยตรง และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้

   

ภายหลังการหารือแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม 11 ฝ่าย ที่มีนายเจริญ จรรโกมลย์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการหารือ มีผู้เข้าร่วมหารือ 6 ฝ่าย และตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยที่ประชุม 6 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ต้องการเห็นความปรองดอง และลดความขัดแย้ง โดยจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายนำเงื่อนไขต่างมาเสนอ พร้อมทำจะหนังสือเชิญพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ อีกครั้ง ขณะเดียวกันจะหารือนอกรอบระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และวิปรัฐบาล ต่อแนวร่างกฎหมาย4 ฉบับ ที่ค้างการพิจารณาและร่างที่เสนอมาใหม่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์คลายความกังวล

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต่อหลักการให้อภัยที่ต้องควบคู่กับการสำนึกรับผิดชอบ ส่วนวิธีการและรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะต้องมาออกแบบร่วมกันต่อไป รวมถึงการเสนอปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนที่ถูกคุมขัง เพื่อให้ออกมาดำเนินการต่อสู้ทางคดีต่อไป

   

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ได้รับการรายงานผลการหารือจากพล.อ.หม่องหลวงประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว โดยเห็นว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ และผู้แทนบางกลุ่มที่ไม่เข้ามาร่วมก็เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่กระบวนการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะหากคนส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้ก็ต้องเป็นไปตามกติกา จะมารอเพียงคนบางกลุ่มคงไม่ถูกต้อง

ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับยังไม่ได้หารือกับ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเสนอร่างใหม่ให้พิจารณา โดยมองว่า การเสนอความคิดเห็นแต่ละฝ่ายมีความแตกต่าง ต้องพูดคุยกัน เพราะการออกมาคัดค้านตั้งแต่ต้น โดยยังไม่ได้รับฟังความเห็นจะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจังหวะเวลาความเหมาะสม อยู่ที่เหตุและผลของการอธิบายและการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยสามารถทำคู่ขนานกันได้ ขณะเดียวกันไม่อยากให้ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมองเรื่องนี้เป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอยากให้มองข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วหันมาหาทางออกให้กับประเทศ

   

ขณะเดียวกันที่พรรคเพื่อไทยวันนี้(11มี.ค.56) มีการประชุมการออกกฏหมายปรองดองและกฏหมายนิรโทษกรรม โดยมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.นำโดยนายจตุพร พรหมพันธ์ และกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง โดยตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการช่วยประชาชนที่ถูกคุมขังทุกกลุ่ม ด้วยการออกกฏหมายนิรโทษกรรม ซึ่งไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ แต่เนื่องจากที่ประชุมต้องการรับฟังความเห็นจากกลุ่มอื่นๆ ก่อนนำนำไปสู่ข้อสรุปที่เห็นร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลักในการหาทางออกของประเทศ จึงยังไม่มีมติใดใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง