ณัฏฐา โกมลวาทิน : แนะนำการเลือกเรียนต่อเพื่อเข้าสู่ AEC และแหล่งข้อมูล AEC

สังคม
12 มี.ค. 56
01:20
1,651
Logo Thai PBS
ณัฏฐา โกมลวาทิน : แนะนำการเลือกเรียนต่อเพื่อเข้าสู่ AEC และแหล่งข้อมูล AEC

“เราเป็นคนสนใจความเป็นไประหว่างประเทศ เลยพยายามให้คนดูรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดๆ บนโลกใบนี้ เราต้องพยายามรับรู้และเรียนรู้เรื่องต่างประเทศให้ได้มากที่สุด”

 แวดวงข่าวโทรทัศน์ในเมืองไทย มีผู้สื่อข่าวไม่กี่คนที่ได้รับการวางตำแหน่งเป็นตัวหลักในการสัมภาษณ์ผู้นำหรือบุคคลสำคัญของโลก หนึ่งในนั้นก็คือ พี่ลูกเต๋า-ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการและผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ ไทยพีบีเอส” และบรรณาธิการข่าวอาเซียน ด้วยดีกรีระดับดอกเตอร์ด้าน Gender Studies จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน และความเชี่ยวชาญในประเด็นข่าวระหว่างประเทศ

จึงไม่น่าแปลกใจกับการปรากฏตัวอย่างมืออาชีพในแต่ละครั้ง แต่อีกสิ่งที่หนึ่งที่เธอให้ความสำคัญคือความใฝ่รู้ ซึ่งเสริมสร้างความสนุกในงานและการใช้ชีวิต เป็นต้นทุนความคิดที่น่าเอาอย่าง

 
ความสนใจงานด้านสื่อสารมวลชนหรืองานข่าวเริ่มต้นได้อย่างไรคะ
ตั้งแต่ประถมเราชอบอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ชอบติดตามความเป็นไป ดูรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศที่ออกอากาศในไทย รู้สึกว่านักข่าวน่าจะเป็นงานที่สนุก ได้ออกไปเจอสงครามแล้วกลับมาเล่าให้คนฟัง จนเรียนมหาวิทยาลัยเริ่มรู้สึกว่าเราอยากเป็นสื่อมวลชน พี่เรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษธุรกิจ ที่เอแบค ตอนนั้นมีบางวิชาที่ครูให้เรียนอ่านข่าว วิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์บทความภาษาอังกฤษ เราสนใจการอ่าน การย่อความ การสรุป และการออกมาพรีเซ็นต์หน้าห้อง เราสนุกกับการเรียบเรียงคำ ประกอบกับอาจารย์เป็นนักข่าวเก่าเคยทำงานที่บางกอกโพสต์ อาจารย์ก็จะมีเกร็ดมีมุมต่างๆ มาเล่าให้ฟัง สร้างแรงกระตุ้นให้เรา พอจบมาจริงๆ ก็ไม่ได้เริ่มจากสื่อมวลชนเป็นอย่างแรก ทำงานเป็นเลขาผู้จัดการฝ่ายผลิตของโรงงานไต้หวัน แต่ทำไปก็รู้ว่าเราไม่ได้ชอบ จนในที่สุดได้มาเป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะเศรษฐกิจของเนชั่น ได้เริ่มเขียนข่าวภาษาอังกฤษอย่างที่อยากทำ
 
เพราะอะไรถึงตัดสินใจลาออกจากงานที่รักไปเรียนต่อ
ตอนนั้นทำงานเป็นผู้สื่อข่าวทีวีที่ไอทีวี ภารกิจงานข่าวแต่ละวันรัดตัวมาก เพราะเราต้องเป็นทั้งผู้สื่อข่าวภาคสนามและเป็นผู้ประกาศข่าวในสถานี จนวันหนึ่งก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทุนทางความรู้ที่สะสมมาจะหายไปหรือเปล่า อีกใจหนึ่งคือคิดไว้ตั้งแต่สมัยเรียนเอแบคแล้วว่าเราจะหาทางสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศให้ได้ พอมีทุนรัฐบาล สำนักงาน ก.พ. เปิดเลยลองไปสอบทุนด้านสังคมศาสตร์ เราคิดว่าเป็นสาขาที่กว้างและน่าจะใช้วิชากลับมาทำงานสื่อได้ การเรียนด้านสังคมวิทยาคล้ายงานสื่อสารมวลชน คือการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม ยิ่งได้ไปเรียนในเชิงประวัติศาสตร์จากมุมมองของวัฒนธรรมตะวันตก ก็ยิ่งเข้าทางมาก
 
ส่วนการเรียนปริญญาเอกด้านสตรีศึกษา แรกเริ่มไม่ได้สนใจแต่จำเป็นด้วยเงื่อนไขทุน แต่พอได้เรียนก็รู้สึกว่าวิชานี้ช่างเต็มไปด้วยความซับซ้อน เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามกับบทบาทหรือโครงสร้างทางสังคมกับความมีชีวิตอยู่ของผู้หญิงบนโลกใบนี้ สิ่งที่เราเคยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นผู้หญิงต้องอย่างโน้นอย่างนี้ บทบาทที่เคยชินของผู้ชายผู้หญิง ต้องคิดกลับหัวใหม่หมดเลย ทำให้เราตั้งคำถามกับเรื่องหลายๆ เรื่อง พอเปิดใจกว้างมันเป็นเรื่องสนุกและท้าทายทั้งในเรื่องความคิดส่วนตัว บุคลิกลักษณะในความเป็นผู้หญิงของเรา จะว่าไปในเชิงความคิดมันเครียดเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เราเคยชินถูกตั้งคำถาม ถูกท้าทายโดยทฤษฎี โดยการเถียงกับเพื่อนหมดเลย แต่ก็เป็นต้นทุนทางวิชาชีพที่เราได้มาจากการเรียนวิชานี้ ทำให้เรามีมุมมองที่แปลกออกไปในการคิดประเด็นข่าว เราอาจจะเห็นความซับซ้อนมากกว่าคนอื่นที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้ตั้งคำถาม
 
ตั้งใจเลยไหมว่ากลับมาจะเป็นสื่อมวลชนอีก
ในใจเราคิดถึงตลอด เพราะเราชอบงานเขียนเล่าเรื่อง งานพรีเซ็นต์หน้าจอ การลงสนามรายงานข่าว ตอนไปเรียน LSE ก็ได้เป็นพนักงานนอกเวลาอยู่ที่ BBC ภาคภาษาไทย แต่เราไม่แน่ใจว่ากลับมาแล้วจะได้อยู่ในวงการสื่อมวลชนหรือเปล่า เพราะเงื่อนไขการใช้ทุนคือต้องกลับมาทำงานในภาครัฐ ปรากฏว่าทำงานสักพัก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเปิดตัวขึ้น ตรวจสอบแล้วเป็นองค์กรที่เราจะมาใช้ทุนได้ จนถึงตอนนี้ทำงานที่ไทยพีบีเอสมาเกือบ 5 ปีเต็มแล้ว
 
พี่ลูกเต๋ามักได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษบ้าง
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมตัวไม่ใช่เฉพาะการสัมภาษณ์นักการเมืองหรือผู้นำระดับประเทศ ต้องทำการบ้าน เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เรารู้สึกว่าเป็นโชคดีอย่างมากที่ได้ไปนั่งสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น องค์ดาไลลามะ โทนี่ แบลร์ ออง ซาน ซูจี หรือท่านโคฟี่ อันนัน เวลาทำการบ้านเราก็จะคิดแทนคนที่บริโภคข่าวในประเทศว่า คนไทยอยากจะรู้อะไรจากท่านเหล่านี้ เราจะได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของท่าน เป็นโจทย์หลักที่ต้องเอาออกมาให้ได้ บวกกับความสนใจส่วนตัว เพราะอย่างองค์ดาไลลามะ ตามประวัติท่านมีความโดดเด่นในการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและต้องต่อสู้ในเชิงการเมือง เราย่อมอยากรู้แนวทางการต่อสู้ บวกมิติด้านศาสนาว่าทำใจอย่างไรกับแรงกดดันที่เกิดขึ้น แต่โอเค เรามีกรอบในการสัมภาษณ์ แต่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ บางท่านตอบแล้วต้องตามต่อ ต้องจี้ต่อ จึงเป็นความท้าทายทุกครั้งได้สัมภาษณ์
 
อยากให้เล่าเหตุการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เวลานี่เป็นปัจจัยสำคัญเลย เพราะแต่ละท่านการขอสัมภาษณ์ก็ยากอยู่แล้ว แล้วจะตีกรอบอย่างไรให้ได้เนื้อหาที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการทำทีวีที่มีกล้องจับสีหน้าของเรากับแขกที่ให้สัมภาษณ์ตลอด อย่างคุยกับ ออง ซาน ซูจี มีเวลาน้อยมากเพราะเป็นการบุกเข้าไปถึงบ้านและขอสัมภาษณ์เดี๋ยวนั้นเลย ประชิดตัวเลย ออง ซาน ซูจีมีกำหนดการที่จะไปที่อื่นต่อ ก็ต้องใช้ลูกตื้อ และมีคำถามที่เตรียมไว้ในใจตลอดเวลา คนสำคัญบางคนเราอาจถามได้แค่คำถามเดียว เพราะฉะนั้นคำถามแรกต้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างกรณีท่านโคฟี่ อันนัน ก็สนุกดี ตอนแรกทีมงานบอกว่าจะได้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ในใจเราคิดว่าครึ่งชั่วโมงก็เยอะมากแล้ว และเราคงมีเวลาค่อยๆ ไล่ถาม แต่ปรากฏว่าพอหมด 17 นาทีท่านลุกขึ้นเลย เราไม่สามารถจะดึงท่านกลับมานั่งคุยกับเราได้อีก เป็นบทเรียนว่าคำถามสำคัญที่เราอยากรู้มากที่สุดและมันต้องได้ ต้องอยู่คำถามแรกๆ อย่าไปคิดว่าจะเก็บไว้ช่วงท้าย
 
Do and Don’t ของการทำข่าวในแบบณัฏฐา
สื่อมวลชนทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเป็นนักข่าวที่ดีต้องทำอย่างไร แต่สำหรับพี่ต้องกลับมาที่เรื่องเนื้อหา Do คือสนใจในเนื้อหาข่าวที่รับผิดชอบ และสนใจให้กว้างขึ้นกว่าสิ่งที่รับผิดชอบ ทั้งบริบทเชิงประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจระหว่างประเทศ Do ควรจะมีเครือข่ายเป็นของตัวเอง มีนักข่าวหรือแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องที่เรายกหูหาได้ Do ต้องตรวจสอบข้อมูลความเป็นจริง ไม่ใช่รายงานข่าวของสำนักอื่นเป็นอย่างไรเราเชื่อหมด Don’t เรียนรู้จากสิ่งผิด ทำอะไรผิดแล้วก็อย่าทำผิดซ้ำๆ ต้องตรวจสอบตัวเอง พยายามทำให้งานของเราดีขึ้นทุกวัน
 
เสน่ห์ในอาชีพผู้สื่อข่าวคืออะไร
เยอะมาก สนุกกับเนื้อหาที่เข้ามาทุกวัน อย่างแรกเลยคือเป็นนักข่าวทีวีต้องเล่าเรื่องได้ภายในเวลาที่จำกัด เป็นความท้าทายว่าจะเรียบเรียงอย่างไร คำนำ เนื้อความ บทสรุปให้ได้ใจความที่สุด แล้วเราก็ชอบพรีเซ็นต์งาน อย่างเวลาไปงานสัมมนา เราต้องย่อยประเด็นหัวใจของเรื่องมาขยายต่อให้คนดู อีกอย่างคือเป็น passion ของพี่ เราเป็นคนสนใจความเป็นไประหว่างประเทศ เลยพยายามให้คนดูรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดๆ บนโลกใบนี้ เราต้องพยายามรับรู้และเรียนรู้เรื่องต่างประเทศให้ได้มากที่สุด พอเราชอบแล้วเอามาบอกต่อได้ สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่มีคุณค่า
 
พูดถึงประเด็นเรื่องระหว่างประเทศอย่าง AEC ในฐานะ บก.ข่าวอาเซียน
ช่วงหลังสื่อไทยตื่นตัวมาก ทำให้คนไทยตื่นตัวมากกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต่างชาติก็เริ่มมีแนวโน้มมากขึ้น แต่ว่าการมองข่าวอาเซียนแต่ยังเป็นรูปแบบคล้ายเดิม คือมองในเชิงนโยบาย ผู้นำมาเจอกัน เชคแฮนด์บนเวที คนก็อาจจะงงๆ ว่าข่าวอาเซียนน่าสนใจตรงไหน แห้งๆ เลยอยู่ที่ว่าสื่อจะผลิตองค์ความรู้ของอาเซียนให้คนเข้าใจความเป็นมาเป็นไป และให้เกิดประโยชน์กับไทยให้มากที่สุดได้อย่างไร ไทยพีบีเอสพยายามมองเรื่องที่เข้าถึงชีวิตคน อย่างเรื่องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน หรือเรื่องชนชั้นกลาง เปรียบเทียบประเทศต่างๆ กับไทย อย่างง่ายๆ เลย ปัญหารถติดในเมืองหลวงของ 10 ประเทศอาเซียน เราคงอยากเห็นว่ากรุงเทพฯ รถติดวินาศสันตะโรอยู่เมืองเดียวในอาเซียนหรือเปล่า ไปดูหาบเร่แผงลอยซึ่งเป็นลักษณะสังคมแบบเอเชีย พี่ว่าน่าสนใจถ้าเราไปเปรียบเทียบราคาอาหารที่ขายตามแผงลอยเมืองใหญ่ มีอีกเยอะที่ต้องทำ
 
มีคำแนะนำสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องเตรียมตัวเข้าสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาคไหมคะ
แรงงานในตอนนี้ไหลกันอยู่แล้ว นี่พูดถึงแรงงานระดับลูกจ้างรายวัน แรงงานต่างด้าว เราจะได้เห็นการเชื่อมโยงในระดับภาคประชาชนอยู่แล้ว แต่ว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แปดอาชีพที่จะเคลื่อนย้ายอย่างเสรีก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกมากจนเกินไป ตื่นตัวดีแล้วแต่อย่าตื่นตระหนก ไม่ใช่ว่าหลังจาก 31 ธันวาคม 2557 คนอินเดีย สิงคโปร์ มาเลย์ จู่ๆ จะเข้ามาแย่งงานคนไทย เพราะแต่ละประเทศก็จะมีมาตรการ มีเงื่อนไขที่ดูแลและป้องกันคนในประเทศอยู่ เช่น พยาบาลก็มีการระบุว่าต้องทำข้อสอบเป็นภาษาไทย พี่ว่าสิ่งที่ต้องระลึกไว้คือโอกาสเราเปิดมากขึ้น ทักษะในเรื่องภาษาและวิชาชีพก็พยายามปรับปรุง เพราะกฎเกณฑ์ที่ดูแลในประเทศ ต่อไปก็อาจเปลี่ยนแปลง เพราะทรัพยากรบุคคลของไทยอาจจะน้อยลง หรือเราต้องการคนที่มีวิชาชีพเฉพาะทางมากขึ้น
 
พี่ลูกเต๋าจะบอกสูตรความสำเร็จในสไตล์ของตัวเองอย่างไร
พยายามสนุกกับสิ่งที่ทำ ต้องมีวิสัยทัศน์ แต่ละคนต้องมีความฝันส่วนตัว ถ้ามีทิศทางที่ชัดเจนเป็นของตัวเองก็จะเดินตามความฝันได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่มีความฝันมันอาจจะเซ เราก็จะอยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ เราถนัดเรื่องอะไร เราสนใจเรื่องไหน ถ้าเราไม่ถนัด เราจะเพิ่มพูนอย่างไรที่จะไปตามฝันตามที่ต้องการ หรือว่าจริงๆ หลงทางมันก็ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่ก็ขอให้สนุกกับการหลงทางนั้น เพราะประสบการณ์อาจจะเพิ่มพูนอะไรให้เราทีหลังก็ได้
 
ในอนาคตจะยังตั้งคำถามกับตัวเองเรื่องต้นทุนทางความคิดอีกไหมคะ
เชื่อว่ายังสนุกกับงาน โดยเฉพาะข่าวอาเซียนเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีแล้ว ภารกิจของพี่คือการบุกงานข่าวอาเซียน สร้างเน็ตเวิร์คในระดับภูมิภาค ทั้งผู้สื่อข่าว สำนักข่าวต่างชาติ หรือพยายามไปสัมภาษณ์บุคคลในอาเซียนให้ได้เยอะๆ และพยายามขยับขยายไปงานด้านวิชาการมากขึ้น เพิ่มพลังสมองให้ตัวเอง ส่วนเรื่องพลังจิตใจ ธรรมะเป็นเรื่องที่ทำมาตั้งแต่เด็ก ตอนไปเรียนลอนดอนเหมือนเรามีเวลาได้อยู่กับตำรับตำรามากขึ้นพร้อมๆ กับหนังสือด้านศาสนา ยิ่งทำงานสื่อเจอความเคลื่อนไหวและความขัดแย้งเยอะ ยิ่งต้องนิ่งให้มากขึ้น ดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ก่อนนอนพี่ก็พยายามนั่งสมาธิทบทวนตัวเองในแต่ละวัน และขยายช่วงเวลาให้มากขึ้น ที่พูดมานี้ทำไม่ง่ายเลย ต้องให้กำลังใจกับคนอื่นที่กำลังทำอยู่ด้วยเนอะ
 
พี่สนใจอ่านงานเขียนของหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ชา หลวงพ่อสุเมโธ เจ้าอาวาสวัดอมราวดีที่อังกฤษ ลูกศิษย์เอกของหลวงปู่ชา หลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก งานขององค์ดาไลลามะที่เน้นเรื่องความเมตตา งานของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่เน้นการอยู่กับปัจจุบัน การเห็นคุณค่ากับทุกขณะจิต งานของภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ภิกษุณีเจิงคอม เวลาเราอ่านก็ไม่ได้มาแบ่งแยกว่าเป็นพุทธศาสนาสายไหน ครูบาอาจารย์แตกต่างกัน แต่ถ้าเราอ่านแล้วชอบ น้อมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็พอ โดยเฉพาะงานของท่านพุทธทาสภิกขุจะมีความลึกลับ ซับซ้อน สอนแบบใช้คำพูดตรงๆ ทะลุไปถึงกลางใจ ใช้คำพูดแบบนักเลงๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง