บอร์ดสปสช.ตั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ พบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น30%

สังคม
12 มี.ค. 56
01:41
150
Logo Thai PBS
บอร์ดสปสช.ตั้งอนุกรรมการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ พบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น30%

มติบอร์ดสปสช.เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ หลังข้อมูลชี้ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงสุดในอาเซียน และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2564 มีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ในภาวะพึ่งพิง

 
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 12.59 ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ 12.25 และเวียดนาม ร้อยละ 8.53    สำหรับในปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ7.5 ล้านคนและในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น  
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายสุขภาพของประเทศไทย ปี 2555 พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ประมาณการณ์ 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุมีจำนวน 1.4 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ และในอนาคตจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นด้วย   ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ได้เร่งปรับกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบบริหารและระบบบริการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ
 
 รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งดูแลประชากรกว่า 48 ล้านคน ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับตรงนี้ และเพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อทำหน้าที่ ประสานและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง วิเคราะห์สถานการณ์ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั้งในเชิงสุขภาพและสังคม และนำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อให้เกิดระบบได้จริงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด
 
โดย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านผู้สูงอายุ เป็นประธาน จากการที่บอร์ดสปสช.ศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายกับผู้บริหารและนักวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นในประเด็นการบริหาระบบการเงินการคลัง และการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งพิจารณาความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ

ซึ่งข้อสรุปที่ได้นั้นนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพา ทั้งระบบการดูแล ชุดบริการ บุคลากรและการเงิน โดยกระทรวงสาธารณสุขและJICA ได้มีการทดลองนำร่องไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาต่อเนื่องเฟสที่ 2 และการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงิน การคลังของระบบประกันฯ เพื่อให้หน่วยบริการและผู้ให้บริการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ประชาชนเป็นเจ้าของระบบและได้รับบริการที่มีคุณภาพด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง