"วิเคราะห์" บทบาท "เลขาฯโอลิมปิกไทย"

กีฬา
12 มี.ค. 56
15:11
109
Logo Thai PBS
"วิเคราะห์" บทบาท "เลขาฯโอลิมปิกไทย"

ถึงแม้ว่าประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยจะเป็นตำแหน่งสำคัญของวงการกีฬาไทย แต่การขับเคลื่อนสำคัญ คือ ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิก ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด วันนี้ (12มี.ค.56) พล.ต.จารึก อารีราชการันต์ ยืนยันแล้วว่า จะไม่รับตำแหน่งรักษาการณ์และจะลงจากทุกตำแหน่งพร้อมกับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ส่งสัญญาณว่าคณะกรรมการโอลิมปิกอาจจะถึงจุดเปลี่ยนของอำนาจ

การเปลี่ยนขั้วในคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากสมาคมกีฬาต่างๆ เป็นเอกภาพไม่ค่อยแตกแถว นับตั้งแต่พล.ต.จารึก อารีย์ราชการัณย์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย มีเพียงไม่กี่ครั้งที่การเลือกตั้งไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือในการเลือกตั้งเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ขึ้นมาเป็นประธาน แทนพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อย่างพลิกความคาดหมาย และมีการวิเคราะห์กันว่า พล.ต.จารึกหันไปสนับสนุนพล.อ.ยุทธศักดิ์แทน และนับจากนั้นพล.อ.ยุทธศักดิ์ได้รับความไว้วางใจจากกรรมการบริหารเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องโดยไร้คู่แข่ง

พล.ต.จารึก เป็นผู้ที่คนในวงการกีฬาให้ความเคารพเพราะเป็นผู้ที่มีทั้งบารมี อำนาจ และรักพวกพ้อง นอกจากนั้นยังเป็นผู้มีความเข้าใจในระบบสิทธิประโยชน์จึงยากที่จะมีใครขึ้นมาแทนในตำแหน่งนี้ได้

ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ประกาศว่า จะขอรับตำแหน่งเพียง 2 ปีเท่านั้น เช่นเดียวกับพลตรีจากรึกที่ไม่พร้อมจะรับตำแหน่งแทน แต่เมื่อถึงเวลา 2 ปีข้างหน้า พล.ต.จารึกอาจจะต้องยอมรักษาการณ์จนครบวาระ 4 ปีในที่สุด เพราะต้องเตรียมหาทายาทในการดำรงตำแหน่งสำคัญในโอลิมปิกไทย

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเสนอชื่อตัวแทนของไทยที่จะเป็นไอโอซี เมมเบอร์ แทน นายณัฐ อินทรปาน ที่จะหมดวาระในอีก 4 ปีข้างหน้า ภาระกิจที่พล.ต.จารึกมีหน้าที่รับผิดชอบการันตีได้ว่าตำแหน่งที่มีอำนาจที่สุด คือ เลขาธิการโอลิมปิก

หลายฝ่ายวิเคาระห์ว่า บิ๊กต้อม ธนา ไชยประสิทธิ์ อาจจะได้รับการทาบทามจากพล.ต.จารึกให้มาคุมบังเหียนแทนในที่สุด ขณะเดียวกันหากพล.ต.จารึกลงจากตำแหน่งก็อาจเป็นโอกาสให้ฝั่งขั้วอำนาจอื่นหันมาจับมือเพื่อทวงเก้าอี้เลขาธิการคืน ซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายของนายศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายสันติภาพ เตชะวณิช รวมถึงพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร

โดยขณะนี้พล.อ.เชษฐากำลังพยายามผลักดันมวยไทยสมัครเล่นให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี รับรอง ซึ่งเป็นการเสนอผ่านกระทรวงวัฒนธรรมไม่ผ่านคณะกรรมการโอลิมปิก จึงมีนัยยะสำคัญให้ตีความได้ว่าอาจเป็นเพราะความขัดแย้งกับพลตรีจารึกสมัยแพ้การเลือกตั้งเมื่อ 12 ปีก่อน

สำหรับการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย แตกต่างจากการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬา โดยผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 46 คนที่มาจากสมาคมกีฬาและผุ้ทรงคุณวุฒิจะเสนอชื่อกรรมการบริหาร 23 คน บวกกับไอโอซี เมมเบอร์ และตัวแทนจากชมรมอดีตนักกีฬาโอลิมปิก 1 คน รวมเป็น 25 คน จากนั้นทั้งหมดจะลงคะแนนเลือกประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง