เยือน "บีบีซีไทย" ในกรุงลอนดอน : พื้นที่เล็ก-ภารกิจใหญ่

13 พ.ค. 58
11:14
1,691
Logo Thai PBS
เยือน "บีบีซีไทย" ในกรุงลอนดอน : พื้นที่เล็ก-ภารกิจใหญ่
มุมเล็กๆ มุมหนึ่งบนชั้น 5 ของอาคารสำนักงานใหญ่ BBC หรือ BBC Broadcasting House มีแผ่นกระดาษเขียนข้อความแปะไว้ว่า "This area is reserved for BBC Thai Service"

มุมเล็กๆ นี้เป็นที่ทำงานของบีบีซีแผนกภาษาไทย ซึ่งมีทีมงานอยู่ 5 คนท่ามกลางพนักงานบีบีซีกว่า 4,000 คนที่ทำงานอยู่ในอาคารใหญ่ใจกลางกรุงลอนดอน

"ไทยพีบีเอสออนไลน์" พาไปรู้จักหลังบ้านของเฟซบุ๊ก "บีบีซีไทย" ซึ่งเปิดตัวขึ้นไม่นานหลังเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

วันที่ 13 ม.ค.2549 วิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทยออกอากาศเป็นครั้งสุดท้ายจากอาคาร Bush House ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บีบีซีในขณะนั้น หลังจากที่ผู้บริหารของบีบีซีภาคบริการโลกมีนโยบายให้ปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยโดยให้เหตุผลว่ามีจำนวนผู้ฟังน้อยและคนไทยมีทางเลือกในการบริโภคสื่อมากกว่าในบางภูมิภาค บีบีซีจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการผลิตสื่อสำหรับภูมิภาคอื่นซึ่งมีความต้องการของผู้ฟังมีมากกว่าในประเทศไทย

การปิดตัวของแผนกบีบีซีไทยซึ่งให้บริการมายาวนานถึง 65 ปี ทำให้กลุ่มผู้ฟังวิทยุบีบีซีต้องผิดหวัง ทีมงานบีบีซีไทยก็เสียใจไม่น้อยกว่ากันแต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากแยกย้ายกันไปตามทาง

หลังจากบีบีซีไทยปิดตัวไปไม่กี่เดือนก็เกิดรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549 ที่เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง นับจากนั้นเป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองของไทยก็อยู่ในภาวะสั่นคลอนและอ่อนไหวอย่างยิ่ง มีการชุมนุมทางการเมือง มีการใช้ความรุนแรง สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามเรื่องการทำหน้าที่ แฟนๆ บีบีซีไทยเริ่มคิดว่าการปิดแผนกภาษาไทยนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะยังไม่สุกงอมพอที่บีบีซีไทยจะกลับมา

จนกระทั่งเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พ.ค.2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ความคิดที่จะชุบชีวิตบีบีซีไทยขึ้นอีกครั้งก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

การกลับมาของ "บีบีซีไทย" หลังจากปิดตัวไปนาน 8 ปี

"ภารกิจสำคัญของบีบีซีคือเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นกลางไปยังผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการสื่อที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนั้น (หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557) เป็นช่วงที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่บีบีซีไทยจะกลับมาให้บริการอีกครั้ง" เดวิด คูเอน บรรณาธิการสื่อสังคมออนไลน์ ของบีบีซี เขียนเล่าจุดเริ่มต้นการกลับมาของบีบีซีไทยไว้ในบล็อกของเขา

เดวิดอธิบายว่าหลังจากมีแนวคิดดังกล่าว บีบีซีเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการรับสื่อของคนไทยและพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหมที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองมักติดตามข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจากสื่อกระแสหลัก โดยติดตามผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจริงๆ แล้วพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การรับข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นมากหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 และเฟซบุ๊กเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด

เดวิดอธิบายว่าตอนแรก บีบีซีพิจารณา 2 ทางเลือกระหว่าง ช่องทางการนำเสนอข่าวสารแบบดั้งเดิมคือ การเปิดเว็บไซต์บีบีซีไทย แล้วใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกคนให้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือ ทางเลือกใหม่คือมุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กเลย ซึ่งทีมงานตัดสินใจเลือกอย่างหลัง

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหารบีบีซีและกระทรวงการต่างประเทศของสหราชาอาณาจักร และรวบรวมทีมงานผลิตเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานบีบีซี แผนกภาษาไทยที่ปิดตัวไปนั่นเอง

10 ก.ค.2557 เวลา 18.30 น.ตามเวลาประเทศไทย หรือ 1 เดือนกับอีก 18 วันหลังการยึดอำนาจของ คสช. เฟซบุ๊ก "บีบีซีไทย" เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบีบีซีและเป็นแผนกภาษาเดียวที่เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เพียงช่องทางเดียว

หน้าเฟซบุ๊กของบีบีซีไทยเขียนข้อความแนะนำเพจไว้ว่า "บีบีซีไทยมีเป้าหมายให้บริการข่าวสารทางออนไลน์ของบีบีซีเวิร์ลเซอร์วิสสู่ประเทศไทย โดยให้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบดิจิตัลเท่านั้นและมุ่ง 'ภาคสังคม' เป็นหลัก คือข่าวทางโซเชียลมีเดีย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขณะนี้บีบีซีไทยได้รับอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศอังกฤษและบีบีซีทรัสต์ ให้เปิดบริการข่าวสารต่อไป และจะมีการทบทวนอีกครั้งในปลายปี 2558 บีบีซีไทยจะให้ข่าวสารที่ไม่เลือกข้างและเที่ยงตรงแก่คนไทยทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ ทั่วโลก"

เจมส์ เซลส์ ตำแหน่ง Senior Project Manager, BBC Engineering ซึ่งเคยทำงานกับบีบีซี แผนกภาษาไทยและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันให้บีบีซีไทยกลับมาให้บริการอีกครั้งบอกกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า วันที่เขาโทรศัพท์ไปชวนอดีตทีมงานบีบีซีไทยกลับมาทำงานอีกครั้งนั้น เขารู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันจนพูดไม่ออก

"ผมเฝ้ารอและหาทางให้บีบีซีไทยกลับมาให้บริการอีกครั้งมาตลอด 8 ปี มันเหมือนกับว่าเรารอคอยอะไรสักอย่างมานานมากๆ แล้วพอมันมาอยู่ตรงหน้า ความฝันนั้นเป็นความจริงขึ้นมา เราก็ดีใจจนพูดไม่ออก ผมโทรศัพท์ไปหาพนักงานเก่าๆ เพื่อชวนพวกเขากลับมาทำงานด้วยกัน ผมได้แต่บอกพวกเขาว่าบีบีซีไทยกลับมาแล้ว" เจมส์ถ่ายทอดความรู้สึก

"บีบีซีไทย" บนเฟซบุ๊ก ความเสี่ยงที่คุ้มค่า
วันที่ 10 ก.ค.2558 เฟซบุ๊ก "บีบีซีไทย" จะมีอายุครบ 1 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวมาได้ 10 เดือน ยอดคนที่มากด "ไลค์" เพื่อติดตามข่าวสารทะลุ 500,000 คนแล้ว (ข้อมูล ณ 13 พ.ค.2558) ซึ่งถือว่ากระแสตอบรับดีกว่าที่ทีมงานคาด
หมายไว้

"บีบีซีไม่เคยเผยแพร่ข่าวบนเฟซบุ๊กเพียงช่องทางเดียวอย่างนี้มาก่อน ที่ผ่านมาเราถือนโยบายว่าจะต้องมีช่องการสื่อสารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือสถานีโทรทัศน์ เราจะไม่อาศัยช่องทางของบุคคลที่สาม (third-party platform) แต่วิธีการทำงานของสื่อและพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก กล่าวคือผู้คนเสพข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น ทุกคนเอาแต่ก้มหน้าเช็คข่าวหรืออ่านเฟซบุ๊กจากโทรศัพท์มือถือ บีบีซีเองก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมการรับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปนี้" เจมส์ให้ความเห็น

"การที่เราให้บีบีซีไทยสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กอย่างเดียวนับเป็นความเสี่ยง เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็เป็นการเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลและการวิเคราะห์มาอย่างดี ถึงตอนนี้ก็ถือว่าเฟซบุ๊กบีบีซีไทยกำลังไปได้ดี" เจมส์กล่าว "เฟซบุ๊กบีบีซีไทยเปิดประตูให้เราเห็นโอกาสของการนำเสนอข่าวสารผ่านช่องทางของบุคคลที่สาม และกลายเป็นต้นแบบให้แผนกภาษาอื่นๆ ที่มีแนวคิดจะให้บริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียวเหมือนแผนกภาษาไทยบ้าง" เจมส์ระบุ

เจมส์เชื่อว่าเฟซบุ๊กบีบีซีไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศมีความอ่อนไหวอย่างในขณะนี้ เนื่องจากมีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างเข้มข้น สื่อมวลชนก็มักถูกตีตราว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

"บีบีซีมีความน่าเชื่อถือในเรื่องของความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราจึงสามารถนำเสนอเรื่องราวและความเห็นจากทั้งสองฝ่ายได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติทางการเมือง ทีมงานบีบีซีไทยเคยคุยกันว่า ถ้าเราถูกวิจารณ์จากทั้งสองฝ่ายนั่นแสดงว่าเรากำลังมาถูกทางแล้ว" เจมส์ให้ความเห็น

"บีบีซีไทย" บ้านใหม่-แพลตฟอร์มใหม่

อิสสริยา พรายทองแย้ม หนึ่งในทีมงานบีบีซีไทยเป็นผู้พา "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ชมสถานที่ทำงานของทีมบีบีซีไทย ซึ่งอยู่บนชั้น 5 ของอาคาร BBC Broadcasting House สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบีบีซี ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Oxford Street แหล่งช็อปปิ้งที่คนไทยรู้จักกันดี เมื่อปี 2555 บีบีซีได้ทำการย้ายพนักงานครั้งใหญ่จากอาคารเก่าแก่ที่ชื่อว่า Bush House มายังสำนักงานแห่งใหม่นี้

ที่สำนักงานใหญ่บีบีซีแบ่งโซนที่ทำงานตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ยุโรป แอฟริกา เอเชียใต้ เป็นต้น สำหรับบีบีซีไทยนั้นอยู่ใต้ร่มของ "บีบีซี เอเชียตะวันออก" ทีมงานบีบีซีไทยในลอนดอนมีทั้งหมด 5 คน และมีผู้สื่อข่าวประจำอยู่ที่ประเทศไทยอีก 1 คน

อิสสริยาซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานกับวิทยุบีบีซีแผนกภาษาไทยจนวันสุดท้ายของการออกอากาศเมื่อเดือนมกราคม 2549 บอกว่าการเปลี่ยนสื่อจากทำวิทยุมาเป็นเฟซบุ๊กบีบีซีไทยนั้นมีความแตกต่างกันมากทีเดียว

"ตอนทำวิทยุ เราออกอากาศวันละ 2 ช่วงๆ ละ 30 นาทีในตอนเช้ากับตอนเย็น เราสามารถเตรียมรายการไว้ล่วงหน้าได้ แต่การทำโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กต้องทำทั้งวัน อัพเดททั้งวัน เตรียมไว้ล่วงหน้าไม่ได้เพราะต้องเป็นข่าวที่ทันเหตุการณ์ตลอด เรามีเป้าหมายในการโพสต์ข่าวขึ้นเฟซบุ๊กประมาณ 25 ข่าวต่อวัน ขณะนี้เราเริ่มโพสต์ข่าวทางยูทูปและอินสตาแกรมด้วย"

เนื่องจากบีบีซีแผนกภาษาไทยถูกปิดไปก่อนที่บีบีซีจะย้ายสำนักงานมาที่ใหม่ อาคารแห่งนี้จึงไม่ได้จัดสถานที่ให้แผนกภาษาไทยโดยเฉพาะ ทีมงานจึงทำได้เพียงจับจองมุมเล็กๆ มุมหนึ่งเป็นสถานที่ทำงาน ส่วนสตูดิโอสำหรับลงเสียงภาษาไทยในคลิปวิดีโอก็ใช้ร่วมกับแผนกอื่นๆ ซึ่งต้องจองคิวใช้งาน

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างการเสนอข่าวผ่านวิทยุกับเฟซบุ๊กในมุมมองของอิสสริยาคือ เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้ทีมงานบีบีซีไทยใกล้ชิดกับคนอ่านมากขึ้น เพราะเมื่อโพสต์ข่าวอะไรไป คนจะเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ทันที แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ยากขึ้นด้วยเพราะต้องระมัดระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและตัวสะกดเป็นพิเศษเพราะมักจะมีผู้อ่านทักท้วงเข้ามาอย่างรวดเร็ว

อิสสริยาบอกว่า ทีมงานตั้งใจที่จะสื่อสารกับผู้อ่านแบบไม่เป็นทางการมากนักเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของโซเชียลมีเดีย แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของบีบีซีไทยไว้นั้นคือ การพูดคุยในเรื่องที่เป็นสาระความรู้ ซึ่งผู้อ่านบางคนก็ไม่ชอบเพราะชินกับสไตล์ที่ค่อนข้างเป็นทางการของวิทยุบีบีซี

ในประเด็นนี้ เจมส์เสริมว่า บีบีซีให้อิสระในการเลือกสไตล์การนำเสนอเนื้อหาของแต่ละส่วน ตราบใดที่ยังรักษามาตรฐานและหลักการนำเสนอข่าวของกองบรรณาธิการบีบีซีไว้ได้

สำหรับเนื้อหานั้น อิสสริยาพบว่าผู้อ่านคนไทยจะสนใจข่าวการเมืองเป็นพิเศษ เห็นได้จากการเข้ามาแสดงความคิดเห็น รองลงมาเป็นข่าวสถานการณ์ เช่น แผ่นดินไหวในเนปาล และเรื่องราวแปลกๆ จากรอบโลก

เธอมองว่า ในช่วงเกือบ 1 ปีที่เปิดเฟซบุ๊กบีบีซีไทยขึ้นมา ถือว่าคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากยอดการกด "ไลค์" เพื่อติดตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาเช่นนี้ คนไทยต้องการสื่อที่อยู่ตรงกลาง นำเสนอโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกปิดกั้นทางความคิด ซึ่งบีบีซี แผนกภาษาไทยเป็นสื่อที่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องนี้มาตั้งแต่อดีต การที่บีบีซีไทยกลับมาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรับข่าวสารของคนไทย

อิสสริยายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา บีบีซีไทยถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามคสช.และรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเธอยืนยันว่า "บีบีซีไทยเป็นสื่อที่อยู่ตรงกลาง ไม่เลือกข้างไหน อาจมีคนมองว่าบีบีซีไทยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ หากเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายบริหารประเทศก็ต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล คสช." 

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน 
  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง