พบผู้บริโภค “รู้สิทธิแต่ใช้ไม่เป็น” มีปัญหาเรื่องปฏิบัติ ไม่รู้จักปกป้องตนเอง ด้านประธานสภาผู้บริโภคอาเซียนชี้ กลไกคุ้มครองผู้บริโภคของไทยอ่อนแอ

สังคม
13 มี.ค. 56
11:24
502
Logo Thai PBS
พบผู้บริโภค “รู้สิทธิแต่ใช้ไม่เป็น” มีปัญหาเรื่องปฏิบัติ ไม่รู้จักปกป้องตนเอง  ด้านประธานสภาผู้บริโภคอาเซียนชี้ กลไกคุ้มครองผู้บริโภคของไทยอ่อนแอ

เปิดสถานการณ์คุ้มครองผู้บริโภคของไทย ปี 2555 เผย 95.4% กินอาหารไขมันสูง 82.1% ดื่มน้ำอัดลม 72.9% กินขนมกรุบกรอบ เตรียมดันสภาผู้บริโภคอาเซียน หวังแก้ปัญหาการชดเชยสิทธิข้ามแดน

 ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งที่ 3 เรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค” เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์ว่า สถานการณ์คุ้มครองผู้บริโภค ปี 2555 มีการประเมินสถานะผู้บริโภคไทยตามดัชนีชี้วัดการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติ โดยสำรวจสถานการณ์ของผู้บริโภคไทยใน 19 จังหวัด พบว่า เมื่อเปรียบเทียบสิทธิผู้บริโภคไทยและสากล ไทยมีการรับรองสิทธิผู้บริโภคเกือบเทียบเท่าสากล  โดยผู้บริโภคไทยมีสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ ร้อยละ 92.89 สิทธิที่จะได้รับข่าวสารทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ร้อยละ 85.35 และมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการร้อยละ 82.19 อย่างไรก็ตาม ไทยยังขาดสิทธิผู้บริโภค เช่น การเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน การเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่รับรองในระดับสากล

 
ผศ.ภญ.ดร.วรรณา กล่าวต่อว่า ในด้านความรู้เกี่ยวกับสินค้า  ผู้บริโภคมีความรู้อย่างถูกต้องในระดับดีมาก ร้อยละ 33.6 ระดับดีร้อยละ 34.8 และระดับพอใช้ร้อยละ 19.6  เมื่อสำรวจสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2555 มีรายงานสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัยจำนวน 23 รายการ ประกอบไปด้วยยา อาหาร บริการเสริมความงาม และบริการสุขภาพ โดยมีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บป่วย 1 ราย  ด้านการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค สิ่งที่ประชาชนทำเมื่อพบปัญหา คือ ขอคืนและเปลี่ยนสินค้าร้อยละ 53.9 ไม่ทำอะไรเลยร้อยละ 19.1 ขอคืนสินค้าและแจ้ง สคบ. หรือ อย. เพื่อปกป้องคนอื่นเพียงร้อยละ 14.2
 
“ผู้บริโภคมีความรู้ด้านสิทธิผู้บริโภค และความรู้เกี่ยวสินค้าและบริการในระดับดี แต่ยังไม่มีการนำปฏิบัติ  และยังพบปัญหารับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารไขมันสูงร้อยละ 95.44 โดยรับประทาน 4 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 40.53 และรับประทานทุกวันร้อยละ 9.12  ดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวานร้อยละ 82.1 โดยดื่ม 4 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ร้อยละ 35.44  และดื่มทุกวันร้อยละ 15.96   รับประทานขนมกรุบกรอบร้อยละ 72.89  โดยรับประทาน 4 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ร้อยละ 21.32 รับประทานทุกวันร้อยละ 5.79 แม้ว่าจะมีการตื่นตัวเรื่องผู้บริโภคมากแต่การคุ้มครองตนเองจนเกิดการคุ้มครองผู้อื่นด้วยนั้นยังต้องสนับสนุนและส่งเสริม”  ผศ.ภญ.ดร.วรรณา กล่าว
 
ด้าน รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะมีองค์กรเพื่อผู้บริโภคและทำงานด้านนี้อย่างเข้มแข็ง แต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคนี้ ยังถือว่าไทยมีความอ่อนแอในด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยพบว่าในภูมิภาคอาเซียนมี 4 ประเทศที่มีความเข้มแข็งในการเตือนภัยผู้บริโภค คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์   กรณีน่าสนใจในการคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า ประเทศอินโดนีเซียมีการเตือนและเรียกเก็บสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทั้งหม้อหุงข้าว เครื่องดูดฝุ่น ที่ปิ้งขนมปัง เพราะไม่มีคู่มือการใช้ภาษาอินโดนีเซีย   เวียดนามมีการเรียกเก็บรถยนต์ เนื่องจากพบว่า น้ำมันเบรกอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย มาเลเซียมีการเรียกเก็บมือถือเพราะมีความไม่ปลอดภัยเรื่องการชาร์ตไฟ และฟิลิปปินส์มีการเรียกเก็บรถเนื่องจากล้อไม่ปลอดภัย
 
“การคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนยังถือว่า ขาดกลไกที่เข้มแข็งในการชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายข้ามแดน ซึ่งพบว่า สภาผู้บริโภคจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้งานเดินไปข้างหน้า โดยปัจจุบันมีการก่อตั้งสภาผู้บริโภคอาเซียน (ACCP) โดยมีสมาชิก 7 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน และแม้ว่าผู้บริโภคจะเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้นในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่ต้องพัฒนาไปจนถึงให้มีการปกป้องสิทธิกันและกัน”  รศ.ภญ.ดร.จิราพร กล่าว
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง