ปัญหากล้าพันธุ์ปาล์มด้อยคุณภาพ

13 มี.ค. 56
13:37
943
Logo Thai PBS
ปัญหากล้าพันธุ์ปาล์มด้อยคุณภาพ

นักวิชาการศูนย์วิจัยปาล์มแนะนำว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมที่ถูกต้อง มีกรรมวิธีรวมทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน แต่การปลูกปาล์มน้ำมันในบางพื้นที่ พบว่ามีการเพาะต้นกล้าพันธุ์ด้อยคุณภาพจากเมล็ดใต้โคน ซึ่งมีเกษตรกรในบางพื้นที่ทางภาคใต้เก็บเมล็ดไปเพาะขายทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน

การผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมที่ถูกต้องนั้นมีกรรมวิธีรวมทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งแตกต่างจากการเพาะต้นกล้าพันธุ์ด้อยคุณภาพจากเมล็ดใต้โคน ที่ขณะนี้ยังคงมีชาวบ้านในบางพื้นที่ทางภาคใต้เก็บมาเพาะขายซึ่งจะให้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน

กว่าจะมาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ใช้เพาะต้นกล้าที่จะให้ผลผลิตตามมาตรฐาน กรรมวิธีขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง คือนำเกษรจากต้นพ่อพันธุ์ไปผสมกับผลทะลายของต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะถูกจัดเก็บไว้อย่างมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงที่อาจจะนำเกษรตัวผู้ของปาล์มสายพันธุ์อื่นเข้ามาผสมปนเปื้อน

นี่คือขั้นตอนเริ่มต้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มลูกผสมที่ศูนย์วิจัยปาล์มสุราษฎร์ธานี ซึ่งต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน รวมระยะเวลาการผลิตไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และเป็นวิธีการเดียวกันกับการขยายพันธุ์ปาล์มน้ำมันทั่วโลก ที่บริษัทเอกชนสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยต้องผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเรียกว่าเมล็ดพันธุ์ควบคุม และผู้ประกอบการทุกรายจะต้องขึ้นทะเบียนแปลงเพาะต้นกล้า

ขณะที่ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านที่ผลิตกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่งอกขึ้นเองจากภายในสวนมาเพาะ ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ ระบุไม่ได้ว่าเป็นลูกผสมจากสายพันธุ์อะไร และไม่จำเป็นต้องมีใบรับรอง แหล่งผลิตต้นกล้าจากเมล็ดใต้โคนเหล่านี้ ถูกปล่อยปละละเลยจากหน่วยงานที่ควรจะเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งยังคงมีให้เห็นอย่างเปิดเผย ในพื้นที่ตำบลทุ่งหลวง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร

โดยปกติหน่วยงานภาครัฐจะตรวจสอบเข้มงวดกับแปลงเพาะที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาต แต่ชาวบ้านที่ผลิตต้นกล้าภายในสวนปาล์มเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแปลงเพาะ และไม่ถูกตรวจสอบ จึงยังคงมีการผลิตต้นกล้าจากเมล็ดใต้โคนออกขายอย่างต่อเนื่อง

การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ร่วงหล่นตามโคนต้น หรือเมล็ดผลจากทะลายปาล์มที่เก็บในสวนนำมาปลูกเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง และหากเป็นการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย ย่อมหมายถึงการขายต้นกล้าปลอม ซึ่งมีเกษตรกรในภาคอีสานหลายรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ซื้อไปปลูก ผลที่ได้คือต้นปาล์มเจริญเติมโตได้ดีแต่ไม่ให้ผลผลิต จึงต้องตัดโค่นทำลายทิ้งในที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง