แพทย์ชนบท เตรียมนัดหยุดงานประท้วง สธ.ปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยง

สังคม
14 มี.ค. 56
03:24
219
Logo Thai PBS
แพทย์ชนบท เตรียมนัดหยุดงานประท้วง สธ.ปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยง

แพทย์ชนบทเตรียมนัดหยุดงานประท้วง หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ จากอัตราเดียวทุกพื้นที่ เป็นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน พร้อมระบุ การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการดำเนินการแบบมีผลประโยชน์เคลือบแฝงในทางธุรกิจ เอื้อภาคเอกชนดึงตัวบุคลากรทางการแพทย์ง่ายขึ้น

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วยแพทย์ ทันตแพทย์เภสัชกร และพยาบาล จากโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่งทั่วประเทศ แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนที่เปลี่ยนจากการ จ่ายแบบอัตราเดียวทุกพื้นที่และทุกหน่วยบริการ(Flat Rate) เป็นจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (Pay for Perfprmance: P4P) พร้อมระบุ การจ่ายค่าตอบแทนตามพื้นที่กันดารอย่างปัจจุบัน จูงใจให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานในพื้นที่ชนบท แต่การดำเนินนโยบายของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ กลับเหมือนมีผลประโยชน์เคลือบแฝงในทางธุรกิจ เอื้อภาคเอกชน ให้สามารถดึงแพทย์เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น พร้อมระบุ แพทย์ชนบททุกคนขอถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการทุกชุดของกระทรวงสาธารณสุขเพราะไม่ไว้วางใจอีกต่อไป และจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งจะกลับไปหารือสมาชิกแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ นัดหยุดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเยียวยาจิตใจ

ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างในระบบสาธารณสุขมีทั้งสิ้น 91,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้นอกจากเป็นเงินเดือน เงินจ้างลูกจ้างชั่วคราวแล้ว ยังเป็นเงินพื้นที่พิเศษ วิชาชีพที่ขาดแคลน และเงินค่า เสี่ยงภัย พื้นที่ทุรกันดารอีก 26,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้จัดทำข้อเสนอในการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3 ระยะ คือ วันที่ 1 เมษายน และวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ชุมชนเมืองทั้งหมดลดลง ในอัตราร้อยละ 50 และกำหนดให้จ่ายP4P และวันที่ 1 ตุลาคม 2557 กำหนดพื้นที่แบบใหม่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน พื้นที่เฉพาะ แทนพื้นที่ทุรกันดาร โดยกำหนดให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าชดเชยการเสียโอกาสอีกทั้งจะพิจารณายกระดับโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลบางแห่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เช่นยะลา นราธิวาส เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ทุรกันดารที่ปรับใหม่ ยังคงได้อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นพื้นที่เฉพาะแทน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง