"เอียง สารี" อดีต รมต.ต่างประเทศยุคเขมรแดงเสียชีวิตแล้ว-ปชช.หวั่นเอาผิดคนที่เหลืออยู่ไม่ได้

ต่างประเทศ
14 มี.ค. 56
06:22
217
Logo Thai PBS
"เอียง สารี" อดีต รมต.ต่างประเทศยุคเขมรแดงเสียชีวิตแล้ว-ปชช.หวั่นเอาผิดคนที่เหลืออยู่ไม่ได้

นายเอียง สารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคเขมรแดง เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 87 ปี สร้างความวิตกว่ากระบวนการพิจารณาคดีอดีตแกนนำเขมรแดงที่ล่าช้าอยู่แล้ว อาจไม่สามารถเดินหน้าเอาผิดกับคนที่เหลืออยู่ได้

โฆษกศาลพิเศษสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรสงครามแกนนำเขมรแดง แถลงยืนยันว่า นายเอียง สารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา หนึ่งใน 5 ผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 87 ปี หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญมาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม
 
นายเอียง สารี ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ในกรุงพนมเปญ พร้อมภริยาคือนางเอียง ธิริท อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม ตามหมายจับในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พร้อมแกนนำเขมรแดงอีก 2 คน คือนายนวน เจีย วัย 86 ปี ผู้นำหมายเลข 2 รองจากนายพอล พต ส่วนอีกคนคือนายเขียว สัมพันธ์ อดีตประธานาธิบดีในยุคเขมรแดง วัย 81 ปี
 
การเสียชีวิตของนายเอียง สารี ทำให้สังคมกัมพูชายิ่งวิตกกังวลมากขึ้นว่า เหยื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะไม่มีวันได้รับความยุติธรรม เนื่องจากการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และประสบปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินการ ที่สำคัญคือผู้ต้องหาทั้ง 3 คนที่เหลืออยู่ ต่างอยู่ในวัยชราและอาจเสียชีวิต ก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมดจะจบสิ้นลง ซึ่งขณะนี้นางเอียง ธิริท ก็ได้รับการเว้นการพิจารณาคดีไปแล้ว เนื่องจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ เหลือเพียงนายคัง เก็กเอียว หรือสหายดุช อดีตผู้คุมเรือนจำตุล เสลง ที่ศาลพิเศษในชั้นอุธรณ์ สั่งเพิ่มโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต
 
สำหรับนายเอียง สารี นั้น เกิดในครอบครัวชาวกัมพูชาที่ยากจน ในจังหวัดทางตอนใต้ในประเทศเวียดนาม เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ในยุคที่เขมรแดงปกครองประเทศ ในระบอบคอมมิวนิสต์ ช่วงปี 2518 -2522 และเป็นคนที่นานาชาติรู้จักมากที่สุด เนื่องด้วยตำแหน่งที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ หลังเขมรแดงถูกโค่นล้ม นายเอียง สารี หนีเข้าไปหลบซ่อนตัวในป่า และกลายเป็นแกนนำเขมรแดงคนแรก ที่นำกำลังเขมรแดงในสังกัด 1,000 คน เข้ามอบตัวในปี 2539 และได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลกัมพูชาในขณะนั้น
 
ที่ผ่านมาเขาปฏิเสธการเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจในการสั่งการจับกุม คุมขัง ทรมานประชาชน และปฏิเสธกระบวนการดำเนินคดี ด้วยการไม่พูดหรือตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น ระหว่างการไต่สวนคดี เช่นเดียวกับนายนวน เจีย และนายเขียว สัมพันธ์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง