ภาคประชาชนเตรียมกระทุ้ง สคบ. เพิ่มสิทธิผู้บริโภค 4 เรื่อง หวังทัดเทียมสากล โดยเฉพาะสิทธิการบริโภคศึกษา

สังคม
14 มี.ค. 56
12:45
101
Logo Thai PBS
ภาคประชาชนเตรียมกระทุ้ง สคบ. เพิ่มสิทธิผู้บริโภค 4 เรื่อง หวังทัดเทียมสากล โดยเฉพาะสิทธิการบริโภคศึกษา

ชี้ช่วยให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา พร้อมเล็งเสนอประเด็นสิทธิผู้บริโภคอีก 4 ข้อให้ยูเอ็น

 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวในการเสวนา "แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคสากล (International Consumer Protection Guidelines) ในงานประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3 เรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า ขณะนี้การรับรองสิทธิผู้บริโภคระดับสากลมีอยู่ทั้งหมด 8 ข้อ แต่ประเทศไทยระบุสิทธิดังกล่าวเพียง 4 ข้อเท่านั้น คือ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ และมีการเพิ่มในเรื่องสิทธิในการได้รับความเป็นธรรมในสัญญา สิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย

โดยที่คนไทยยังไม่ได้รับการรับรองอีก 3 สิทธิ ได้แก่ สิทธิการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน สิทธิการบริโภคศึกษา สิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และ โดยภาคประชาชนได้เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มสิทธิผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อให้คนไทยได้รับสิทธิผู้บริโภคที่ครบถ้วนและทัดเทียมสากล

 
นอกจากนี้ ทางภาคประชาชนเรียกร้องให้เพิ่มประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้บรรลุในแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคสากลของสหประชาชาติ 5 ประเด็น ได้แก่ ด้านบริการการเงิน ด้านพลังงาน ด้านการเข้าถึงความรู้ที่จำเป็น รับรององค์กรผู้บริโภคให้เป็นผู้แทนทางการ และด้านที่อยู่อาศัย
 
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญเร่งด่วน คือสิทธิการบริโภคศึกษาที่จำเป็นต้องมีให้เร็วที่สุด เพราะจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าและบริการที่เอาเปรียบหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผู้ตกเป็นเหยื่อโฆษณามีหลากหลายระดับการศึกษา ปัญหาโฆษณาที่พบ เช่น การโฆษณาน้ำด่าง น้ำหมัก หรือตะเกียงวิเศษ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้ การที่รัฐให้ความสำคัญกับสิทธิการบริโภคศึกษาตรงนี้จะช่วยให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน และต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยบรรจุเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับประเทศ
 
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการโฆษณานั้น แม้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังพบว่ามีช่องว่างทางกฎหมาย บางเรื่องมีกฎหมายแล้วแต่ก็ไม่ได้นำมาตรการทางกฎหมายมาใช้อย่างเต็มที่ จนเกิดปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายมากมายผ่านสื่อต่าง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนผู้บริโภคต้องมีบทบาทในการเฝ้าระวังทั้งเรื่องโฆษณาและผลักดันการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง