แนวคิดมหานครปัตตานี

14 มี.ค. 56
14:09
490
Logo Thai PBS
แนวคิดมหานครปัตตานี

มหานครปัตตานี หรือปัตตานีมหานคร ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ระบุว่า ข้อสรุปที่จะได้จากการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต คือการตั้งมหานครปัตตานี ก่อนจะออกมาปฏิเสธว่ายังไม่มีแนวคิดนี้ และข่าวที่ออกมาเป็นเพียงการประเมินว่า แนวคิดนี้อาจเป็นเพียงข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ในการเจรจาขั้นสุดท้าย

ปัตตานีมหานคร เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมานาน หนึ่งในโมเดลที่ถูกพูดเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 เป็นแนวคิดของเครือข่ายการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองชายแดนใต้ ที่เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ แนวคิดนี้มีที่มาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองพื้นที่พิเศษ แต่มีความแตกต่างในเรื่องโครงสร้าง และสาระสำคัญหลายประเด็น
   
โครงสร้างปัตตานีมหานคร ถูกแบ่งการปกครองเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง หากผู้ได้รับเลือกได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ก็จะต้องทำการเลือกตั้งแข่งกับผู้ที่ได้คะแนนรองลงมาอีกครั้ง เพื่อป้องกันการซื้อเสียง
   
ส่วนระดับเขต มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ยึดตามพื้นที่ 37 อำเภอเดิม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา และสุดท้ายระดับท้องถิ่น คือระดับตำบล หรือสภาแขวง มีหัวหน้าแขวง ที่มาจากการสอบคัดเลือกคนในพื้นที่แต่งตั้งเป็นข้าราชการประจำ ขณะที่ทุกระดับจะเปิดโอกาสให้คนทุกศาสนา สตรี และผู้พิการได้มีส่วนร่วม
  
ปัตตานีมหานคร ยังกำหนดให้มีสภาประชาชน ที่มาจากสภาประชาสังคม ทำหน้าที่คัดกรองผู้มีจริยธรรมและศีลธรรม เป็นผู้บริหาร และเป็นกลไกตรวจสอบการบริหารงานทุกระดับเพื่อความโปร่งใส
   
แนวคิดปัตตานีมหานคร ยังเป็นหนึ่งในรูปแบบการปกครอง ที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้หยิบมาทำเวทีสำรวจความเห็นประชาชนภายใต้ชื่อเวทีชายแดนใต้จัดการตนเองกว่า 200 เวที ของ เพื่อรวบรวมข้อเสนอความต้องการรูปแบบการปกครองของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ นำเสนอเป็นข้อมูลต่อรัฐบาล

โดยรูปแบบการปกครองที่ถูกยกมาเป็นทางเลือกให้ตัวแทนประชาชนร่วมพิจารณา ได้มาจากแนวคิดของภาคประชาสังคม 6 รูปแบบที่จะใช้ในพื้นที่พิเศษคล้ายกับกรุงเทพฯและพัทยา คือ แบบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้หรือ ศอ.บต.ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แบบทบวง ที่อำนาจสั่งการขึ้นตรงกับรัฐมนตรี 

แบบ 3 นคร 2 ชั้น ที่มีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งเป็นรายจังหวัด โดยคงเทศบาลและอบต.ไว้ แบบ 3 นคร 1 ชั้น ที่รูปแบบคล้ายกัน แต่ยกเลิก อบจ. เทศบาลและ อบต. ส่วนแบบมหานคร 2 ชั้น และแบบมหานคร 1 ชั้น หรือ ปัตตานีมหานคร ซึ่งจะมีการรวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไว้ด้วยกัน โดยมีผู้ว่าฯเพียงคนเดียว และต่างกันตรงการยกเลิก และคงไว้ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เน้นการกระจายอำนาจให้ประชาชน แต่หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับทั้ง6 รูปแบบก็เสนอรูปแบบอื่นเพิ่มได้

การผลักดันแนวคิดปัตตานีมหานคร ขณะนี้เครือข่ายการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองชายแดนใต้ได้เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติเมื่อปี 2554 และอยู่ระหว่างเตรียมทำประชาพิจารณ์ภาคประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง