กองทุนเอฟทีเอ รุกพื้นที่ภาคใต้ ช่วยเกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถ รับมือ"เออีซี"

เศรษฐกิจ
14 มี.ค. 56
14:10
82
Logo Thai PBS
กองทุนเอฟทีเอ รุกพื้นที่ภาคใต้ ช่วยเกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถ รับมือ"เออีซี"

กองทุน FTA เดินหน้าช่วยเกษตรกรให้มีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น หวังรองรับการเปิดเสรีทางการค้า รุกพื้นที่ภาคใต้ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และปศุสัตว์ หวังเกษตรกรรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

 นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ  รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “กองทุน FTA : ทางออกสินค้าเกษตรไทย ภายใต้เขตการค้าเสรี” ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า เพื่อให้เกษตรกรภาคใต้ได้ตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง นำไปสู่การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศอย่างยั่งยืน และรับทราบถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือของกองทุนฯ

 
นายคนิต การดำเนินงานของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ที่ผ่านมา ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งจะส่งผลให้มีการแข่งขันทางการค้าสูงมากขึ้น เนื่องจากไม่มีกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ลดลง ทำให้สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะหันมาค้าขายกับประเทศในกลุ่มประเทศคู่เจรจาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีการผลิตสินค้าเกษตรที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศสมาชิกอาเซียนในหลายชนิดสินค้า เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน โดยอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้          
 
รองเลขาธิการ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการเปิดเสรีการค้าจะมีผู้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก แต่จะมีผู้ผลิตอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง อีกทั้งพื้นที่ภาคใต้นั้น นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศหลายชนิด เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และปศุสัตว์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือ มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรเป็นอย่างดี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรมุ่งนำเกษตรกรสู่การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนการผลิต 
 
นายคนิต กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือให้เกษตรกรให้มีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อการพัฒนา ซึ่งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากองทุน FTA ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และดำเนินงานตาม   พันธกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้ว 16 โครงการ 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว  ชา โคเนื้อ โคนม สุกร และผักเมืองหนาว คิดเป็นวงเงิน 597.10 ล้านบาท 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง