นักตะกร้อเรียกร้องให้พัฒนาเป็นอาชีพ

กีฬา
16 มี.ค. 56
14:07
4,220
Logo Thai PBS
นักตะกร้อเรียกร้องให้พัฒนาเป็นอาชีพ

ตะกร้อไทยแลนด์ลีกแม้จะประกาศตัวเป็นกีฬาอาชีพมา 10 ปี นอกจากการแข่งขันที่แทบไม่มีคนดูบางสนามต้องเกณฑ์นักเรียนนักศึกษาไปนั่งชมแล้ว อีกประเด็นที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาลีกตะกร้อที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นกีฬาอาชีพตามที่ กกท. ได้ตั้งความหวังเอาไว้ เนื่องจากนักตะกร้อในไทยแลนด์ลีกยังทำงานเป็นอาชีพหลัก เล่นตะกร้อเป็นอาชีพเสริม

เหมือนกับนักฟุตบอลในยุคแรกของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก โดยนักตะกร้อเกือบทั้งหมดทำงานรับราชการทหารทั้งทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่างการท่าเรือไทย ในช่วงเวลาทำงานปกติ

หลังจากนั้นในช่วงเย็นมาลงฝึกซ้อมกับต้นสังกัดของแต่ละคน และวันเสาร์อาทิตย์นักกีฬาจะเดินทางไปแข่งตามจังหวัดต่างๆ จากนั้นรีบเดินทางกลับมาทำงานในวันจันทร์ตามปกติ นี่คือวิถีชีวิตของนักตะกร้อในช่วง 4 เดือนที่มีการแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีก

สัญญาของนักตะกร้อส่วนใหญ่จะเซ็นแบบปีต่อปี หากเป็นนักกีฬาดีกรีทีมชาติค่าตัวจะอยู่ที่ 100,000 บาทขึ้นไป แต่หากไม่ใช่นักกีฬาทีมชาติแต่ฝีมือดีระดับหนึ่งจะได้ค่าตัวประมาณ 50,000 บาท ส่วนเบี้ยเลี้ยงซ้อมแล้วแต่ข้อตกลงของสโมสร บางสโมสรอาจจะไม่มี แต่บางสโมสรมีเบี้ยเลี้ยงซ้อมตั้งแต่ 50 บาท จนถึงสูงสุดในลีก 200 บาท

จากปัจจัยทั้งหมด ทำให้นักกีฬาตะกร้อมีเสียงสะท้อนถึงผู้บริหารของวงการตะกร้อที่อยากให้พัฒนาตะกร้อเพื่อให้เป็นอาชีพจริง การทำงานควบคู่ไปกับการซ้อมส่งผลเสียต่อสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการเล่นทีมชาติไปด้วย

ตะกร้อเป็นเพียงอาชีพเสริมของนักกีฬาในขณะนี้เท่านั้น ทุกคนยืนยันว่าหากต้องการเลี้ยงชีพด้วยกีฬาตะกร้อคงทำไม่ได้เพราะลีกตะกร้อมีเพียง 4 เดือนแตกต่างจากฟุตบอลอาชีพที่ลีกมีระยะเวลายาวนานถึง 10 เดือน และเบี้ยเลี้ยงซ้อมสูงสุดในตะกร้อลีกที่จะได้ตกเดือนละ 6,000 บาทเท่านั้น การเล่นตะกร้อทุกวันนี้ของนักกีฬาเกือบทุกคนจึงเป็นเพียงแค่ใจรัก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง