"แวนคูเวอร์"..ครองตำแหน่งเมืองหลวงแห่ง Earth Hour 2013

ต่างประเทศ
20 มี.ค. 56
12:06
126
Logo Thai PBS
"แวนคูเวอร์"..ครองตำแหน่งเมืองหลวงแห่ง Earth Hour 2013

เมืองกลองด์ สวิตเซอร์แลนด์ และนครแวนคูเวอร์ของแคนาดาได้รับการยอมรับจาก Earth Hour City Challenge (EHCC) ของ WWF ถึงนวัตกรรมในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และทุ่มเทในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อม ในเมืองที่ยั่งยืนสำหรับผู้อยู่อาศัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล  หรือ WWF รายงานว่า หลังการพิจารณาทบทวนข้อดีของเมืองที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 6 เมืองอย่างรอบคอบ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคณะกรรมการ EHCC* ต่างลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้นครแวนคูเวอร์ได้รับรางวัลเมืองหลวงแห่ง Earth Hour ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเมืองที่เข้าร่วมชิงชัย มีทั้งเมืองฟอร์ลี ในอิตาลี กรุงนิวเดลีของอินเดีย กรุงออสโลของนอร์เวย์ เมืองอุปป์ซาลาของสวีเดน และนครซาน ฟรานซิสโกของสหรัฐ 

 
นครแวนคูเวอร์ ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ ว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นเมืองชั้นแนวหน้าของโลก ในการพัฒนาให้เป็น เมืองที่จัดการสภาพอากาศอย่างชาญฉลาด แม้ว่าความทะเยอทะยานเรื่องนี้ในระดับประเทศจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่แนวทางด้านกลยุทธ์และวิธีการโดยองค์รวมในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเมือง ที่วางไว้อย่างน่าประทับใจ มาตรการที่เป็นรูปธรรมด้านผลกระทบของอาหาร และการวางแผนด้านพลังงานของชุมชนต่างๆ อย่างก้าวหน้า เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของแวนคูเวอร์ ที่ต้องการมีบทบาทในเชิงรุกในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน โลกสู่อนาคตแห่งพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในอีกสองถึงสามทศวรรษข้างหน้า 
 
ตัวอย่างเป้าหมายของแวนคูเวอร์ คือ การตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 การดำเนินการของอาคารทุกแห่งในเมือง จะต้องปล่อย คาร์บอนเป็นศูนย์ พลเมืองจะต้องเดินทางด้วยการเดินเท้า ขี่จักรยาน หรือใช้บริการขนส่งมวลชนให้ได้ร้อยละ 50 และเพิ่มกิจกรรมสีเขียวให้ได้อีกเท่าตัว 
 
"รัฐบาลท้องถิ่นทั่วโลก ต่างพยายามที่จะสร้างเมืองที่ชาญฉลาดและน่าดึงดูด ไปพร้อมๆ กับการจัดการปัญหาเร่งด่วนด้าน สิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายเรื่อง แวนคูเวอร์สามารถที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า เมืองต่างๆจะร่วมกับพลเมืองที่ อาศัยอยู่ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ" นายจิม ลีป ผู้อำนวยการใหญ่ WWF สากล กล่าว 
 
"ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์และนวัตกรรมของแวนคูเวอร์ ขณะเดียวกันเมืองต่างๆทั่วโลกก็จำเป็นจะต้องมองหาแรงบันดาลใจ เพื่อให้เกิดความริเริ่มที่กล้าหาญเช่นเดียวกับแวนคูเวอร์และเมืองอื่นๆที่เข้ารอบสุดท้าย รวมทั้งพัฒนาต่อยอด และทำให้ มาตรการด้านสภาพอากาศให้อยู่ในระดับและความรวดเร็วเพียงพอที่จะสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืนและน่าดึงดูด สำหรับคนทั่วโล" นายลีป กล่าวเสริม 
 
สำหรับ EHCC นั้น มีเป้าหมายที่จะผลักดันการดำเนินการ และแรงสนับสนุนจากเมืองต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนถ่ายโลกสู่อนาคตที่เป็น มิตรกับสภาพอากาศ ซึ่งเมืองที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนั้น ได้รับการคัดสรรจากเมืองที่เข้าร่วมทั้งหมด 66 เมือง จากแคนาดา อินเดีย อิตาลี นอร์เวย์ สวีเดน และสหรัฐ โดยมีการขอให้แต่ละเมืองนำเสนอพันธสัญญาเพื่อสภาพภูมิอากาศที่ปฏิบัติได้จริง ศักยภาพและการดำเนินการ เพื่อให้คณะกรรมการได้ประเมิน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาเมืองที่มีแผนการที่สมบูรณ์ มีแรงจูงใจและน่าเชื่อถือในการพัฒนาสู่คาร์บอนต่ำ 
 
"เมื่อนับรวมการดำเนินการของเมืองต่างๆเหล่านี้ จะพบว่ามีการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบไม่น้อยกว่า 1,008 อย่าง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะมีมาตรการอย่างการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เราหวังจะใช้ความริเริ่มนี้ เพื่อให้การสนับสนุนและให้รางวัลแก่ผู้นำเมืองต่างๆที่ตัดสินใจอย่างกล้าหาญเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ทั้งน่าดึงดูดใจและยั่งยืน สำหรับผู้อาศัยในเมืองที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วบนโลกของเรา" คารินา บอร์กสโตรม ฮานส์สัน ผู้นำ Earth Hour City Challenge ของ WWF 
 
นอกเหนือจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการแล้ว WWF ยังเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมแสดงความสนับสนุนการดำเนินการ อย่างยั่งยืนของเมืองที่เข้ารอบ 17 เมืองสุดท้าย ในการรณรงค์ให้ประชาชนเลือก หรือ People’s Choice campaign ซึ่งปรากฏว่านครแวนคูเวอร์นั้น ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในกระบวนการนี้เช่นกัน การสนับสนุนอย่างกว้างขวางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และช่องทาง People’s Choice ยืนยันได้ถึงความสำเร็จของเมืองด้านการมีส่วนร่วมภาคประชาชน 
 
WWF ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ICLEI ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นด้านการสร้างความยั่งยืน ในการขับเคลื่อนให้เมืองต่างๆ เข้าร่วม ในการแข่งขันครั้งนี้ ICLEI ได้ให้ข้อมูลการลงทะเบียนคาร์บอนและสภาวะอากาศเมือง หรือ carbon Cities Climate Registry (cCCR) ซึ่งเป็นช่องทางในการเก็บข้อมูล ขณะที่องค์กรล็อตตารีเพื่อการกุศลแห่งสวีเดน หรือ The Swedish Postcode Lottery ก็ให้การสนับสนุนอย่างล้ำค่าแก่โครงการนี้ด้วยการเป็นพันธมิตรหลักด้านเงินทุน 
 
นครแวนคูเวอร์จะได้รับรางวัลเมืองหลวงแห่ง Earth Hour โลก 2556 ในการประชุมวันที่ 19 มีนาคม 2556 ที่เมืองมัลโม ประเทศสวีเดน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง