สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของพม่าเชื่อเหตุปะทะในเมืองเมกติลาได้รับอิทธิพลจากยะไข่

ต่างประเทศ
22 มี.ค. 56
03:36
74
Logo Thai PBS
สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของพม่าเชื่อเหตุปะทะในเมืองเมกติลาได้รับอิทธิพลจากยะไข่

ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ปฏิรูปประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยจนได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯและชาติตะวันตกในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับผู้นำพม่าคือความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ทางศาสนา ซึ่งล่าสุดเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมในเมืองเมกติลา ที่อยู่ทางตอนกลางของพม่าจนทำให้ผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสิบคน

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองเมกติลาที่อยู่ห่างจากนครย่างกุ้งไปทางตอนเหนือประมาณ 540 กิโลเมตร บ้านเรือนประชาชนทั้งชาวพุทธและมุสลิมถูกเผาทำลาย เช่นเดียวกับมัสยิดหลายแห่งที่ถูกเผา เบื้องต้นโรงพยาบาลท้องถิ่นรายงานว่าผู้เสียชีวิต 5 คน ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์รวมอยู่ด้วย 1 รูป บาดเจ็บจำนวนมาก ในขณะที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต่างบอกว่าเห็นศพผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ตำรวจพม่าได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์เฟสบุ๊คว่า ชนวนเหตุความรุนแรงในครั้งนี้เกิดจากการทะเลาะวิวาท ระหว่างเจ้าของร้านทองซึ่งเป็นชาวมุสลิม ทะเลาะกับชาวพุทธและเหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลาย จนทำให้มีคนมากกว่า 200 คนออกมาทะเลาะวิวาทและปะทะกันตามท้องถินน มีการเผาทำลายบ้านเรือน ร้านค้า จนทางการต้องประกาศเคอร์ฟิว แต่ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว นี่ถือเป็นเหตุจลาจลทางเชื้อชาติที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธในรัฐยะไข่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน และประชาชนหนีภัยการสู้รบจนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อีกประมาณ 110,000 คน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า นายเดเร็ค มิทเชลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำพม่าได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าโดยแสดงความกังวลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองเมกติลา พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ ใช้ความอดทนอดกลั้น,หันมาเจรจาและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับผู้ประสานงานขององค์การสหประชาชาติก็แสดงความเห็นในลักษณะเดียวกัน

นายวิน เต่ง สมาชิกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ตั้งข้อสังเกตุเมืองเมกติลาซึ่งมีประชากรราว 80,000 คนในจำนวนนี้เป็นชาวมุสลิมประมาณ 30,000 คน ที่ผ่านมาก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงสันนิษฐานว่าความรุนแรงในครั้งนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว(2555)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง