"เอฟทีเอ ว็อทช์" จี้ กรมเจรจาฯ ห้ามลักไก่หารือ "เอฟต้า" ซ้ำรอยอียู แจงระวังคุยหลายกรอบพร้อมกัน เสี่ยงด้อยคุณภาพ

สังคม
25 มี.ค. 56
11:28
87
Logo Thai PBS
"เอฟทีเอ ว็อทช์" จี้ กรมเจรจาฯ ห้ามลักไก่หารือ "เอฟต้า" ซ้ำรอยอียู แจงระวังคุยหลายกรอบพร้อมกัน เสี่ยงด้อยคุณภาพ

จากกรณีนางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า รัฐบาลจะรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟต้า ( EFTA) ในเร็วๆนี้

 เรื่องนี้ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า กรมเจรจาฯควรชี้แจงให้ชัดเจนว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและรัฐสภา จะดำเนินการเช่นไร กรอบเวลาเมื่อไร ไม่ควรลักไก่เช่นเดียวกับ การพิจารณากรอบเจรจาไทย-อียู ที่การรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบ ทำก่อนเข้ารัฐสภาจริงแค่ 2 วัน โดยที่เนื้อหาการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ส่งแนบไปพร้อมกับการพิจารณาของรัฐสภา

 
“ข้อเรียกร้องของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟต้า ( EFTA) ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ คือ ต้องการให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะว่า สวิตเซอร์แลนด์ และ ลิคเคนสไตน์ เป็นประเทศแม่ของบริษัทยาข้ามชาติจำนวนมาก ซึ่งหากไทยยอมตามทั้งเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรโดยอ้างความล่าช้าต่างๆ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยราชการ, การผูกขาดข้อมูลทางยาเพื่อกีดกันยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด , การยอมให้มีการยึดยา ณ ท่าขนส่ง แค่เพียงต้องสงสัยว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการละเมิดสิทธิบัตร ที่ไม่อาจดูได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ยาจะมีราคาแพง และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญ"

นางสาวกรรณิการ์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ EFTA ยังเรียกร้องให้คุ้มครองการลงทุนด้วยการให้ไทยยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อล้มนโยบายต่างๆ รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจากภาษีของประชาชน ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเกาหลีใต้กำลังคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะที่เกาหลี้ใต้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีการค้านไปทบทวนเอฟทีเอและความตกลงการค้าการลงทุนทุกฉบับที่มีเนื้อหาเช่นนี้อยู่”

 
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า การเร่งโหมการเจรจาหลายๆความตกลงในเวลาเดียวกันและมีข้อจำกัดด้านเวลา เพราะหวังต้องต่อสิทธิทางการค้าให้ภาคเอกชนที่ประเทศร่ำรวยให้กับประเทศด้อยพัฒนาแต่ภาคเอกชนไทยยังต้องการอยู่นั้น จะทำให้อำนาจต่อรองและความพร้อมในการเจรจาของไทยลดลง
 
“ เป็นห่วงผู้เจรจาฝ่ายไทยที่ขณะนี้ต้องเร่งเจรจาหลายกรอบในคราวเดียวกัน ทั้ง กับสหภาพยุโรป, EFTA, TPP และ RCEP โดยที่อธิบดีกรมเจรจาฯ ในฐานะเลขาฯของทีมเจรจาไม่มีประสบการณ์ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเลย เรื่องนี้เป็นที่ห่วงใยแม้แต่ในหมู่บรรดากุนซือของรัฐบาล จะทำให้ไทยกลับไปเป็นดังที่ นายราล์ฟ บอยซ์ ฑูตสหรัฐฯที่เคยเขียนโทรเลขไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และถูกนำมาเผยแพร่ผ่าน WikiLeaks อย่างน้อยจำนวน 3 ฉบับ ใน 2 ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยระบุชัดเจนว่า ทีมเจรจาฝ่ายไทยขาดการเตรียมความพร้อม ความอ่อนด้อยประสบการณ์ในการเจรจาและการขาดภาวะผู้นำของหัวหน้าทีมเจรจาและทีมเจรจาของประเทศไทย ซึ่งข้อวิจารณ์เหล่านี้ รัฐบาลและผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องเก็บไปพิจารณาปรับปรุง”
 
วันที่ 26 มีนาคม เวลา 11.00 น. เอกอัครราชฑูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ได้เชิญนักวิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อหารือถึงข้อห่วงใยในการเจรจาเอฟทีเอกับ EFTA  เวลา 11.00 น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง