"เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย" ปัจจัยสร้างแพทย์ชนบท-ลดปัญหาขาดบุคลากรใน 3 จว.ใต้

25 มี.ค. 56
13:25
202
Logo Thai PBS
"เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย" ปัจจัยสร้างแพทย์ชนบท-ลดปัญหาขาดบุคลากรใน 3 จว.ใต้

ปัญหาขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์ ในโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการทางด้านสาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เเต่หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ให้กับบุคลากรทางการเเพทย์เมื่อปี 2551 เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจึงเป็นปัจจัย ที่ทำให้เเพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้ ยังอยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภายใต้ความเสี่ยงจากสถานการความไม่สงบในพื้นที่

เเม้ไม่ใช่คนที่เกิดในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ ทพญ.พนรัตน์ หงษ์สวัสดิ์ ชาวจังหวัดสงขลาคนนี้ ตัดสินใจทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลตากใบ ตั้งเเต่ปี 2543 เเม้ก่อนหน้านี้ ทพญ.พนรัตน์ เคยคิดขอย้ายออกจากพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่หลังจากได้รับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำให้เธอมีแเรงจูงใจ ที่จะทำงานในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้

<"">
<"">

 

ไม่ต่างจาก พญ.ฐาดินี วงษ์ไพศาล โรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส และเเพทย์อีกหลายคน ที่เห็นว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ถือเป็นขวัญเเละกำลังใจ ทำให้พวกเขาตัดสินใจปฏิบัติงานในพื้นที่ ภายใต้สถานการณ์ความรุนเเรงที่เกิดขึ้น

ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในจังหวัดนราธิวาส เริ่มลดน้อยลง หลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น อนุมัติจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับบุคคลากรสาธารณสุขปีละกว่า 3,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 ตามข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลากรปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชนให้นานขึ้น

ผลที่เกิดขึ้น ทำให้มีแพทย์เวชปฎิบัติทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลปี 2551 มีเเพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเพียง 2,566 คน เเต่หลังจากมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ในปี 2555 พบว่า เเพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เพิ่มขึ้นถึง 3,281 คน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 715 คน

ส่วนเเพทย์เฉพาะทางประจำโรงพยาบาลชุมชนในปี 2551 มีเพียง 201 คน และเพิ่มขึ้น เป็น 775 คนในปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 574 คน ทำให้ภาพรวมมีแพทย์ทั้ง 2 กลุ่มทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมากถึง 1,289 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.58

อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของบุคลากรทางการเเพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน กำหนดให้จ่ายตามระยะเวลาการทำงานของบุคลากร ขนาดของโรงพยาบาล เเละลักษณะพื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 ทั้งนี้บุคคลากรทางการแพทย์แต่ละคน จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลดหลั่นกันไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่นหากทำงานในพื้นที่มานานและอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารมากและเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ก็จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาก

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นไปตามภาระงาน หรือ P4P ที่จะใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ โดยปรับโรงพยาบาลชุมชน ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้เเก่ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะกลุ่ม 1 พื้นที่เฉพาะกลุ่ม 2 เเละปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นเเบบ P4P ซึ่งจะจ่ายตามภาระงานของบุคลากรทางการเเพทย์ นอกจากนี้ยังปรับลดระยะเวลาทำงานลงอีก 1 ระยะ ส่งผลให้บุคลากรทางการเเพทย์ส่วนหนึ่ง ถูกปรับลดเงินเบี้ยเลี้ยงลงไปด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง