สภาพคล่อง ก.พ.2556 ตึงตัวขึ้น...ท่ามกลางอุณหภูมิการแข่งขันระดมเงินฝากที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี

เศรษฐกิจ
25 มี.ค. 56
13:35
50
Logo Thai PBS
สภาพคล่อง ก.พ.2556 ตึงตัวขึ้น...ท่ามกลางอุณหภูมิการแข่งขันระดมเงินฝากที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี

สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 8.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.01 แสนล้านบาทจากสิ้นเดือนมกราคม 2556

 ขณะที่ เงินฝาก มีจำนวน 9.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.38 หมื่นล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) ลดลง 1.94 หมื่นล้านบาท มาที่ระดับ 7.85 แสนล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่สูงกว่าผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยตึงตัวขึ้นเล็กน้อย 

 
ดังสะท้อนได้จากสินทรัพย์สภาพคล่องตามความหมายกว้างที่ปรับลดลง 4.39 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 2.58 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และอัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 89.22 จากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 88.35
 
สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องในระยะถัดไป มีความชัดเจนว่าอาจตึงตัวขึ้นจากหลายปัจจัยกดดันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556  ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่คงรักษาโมเมนตัมการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อของทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการ ความต้องการระดมทุนของช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะความต้องการระดมทุนของภาครัฐ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเพื่อดำเนินการตามนโยบายอื่นๆ ของทางการ ตลอดจนความไม่แน่นอนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอาจมีผลต่อเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบการเงินไทย
 
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยกดดันสภาพคล่องต่างๆ ข้างต้น ซึ่งผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เข้าสู่สนามแข่งขันระดมเงินฝากตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 แล้ว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวของหลายธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝาก พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจหลักตลอดทั้งปี 2556 ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินที่คงตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 
 
อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการสภาพคล่องของระบบการเงิน โดยเฉพาะพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันมียอดคงค้างราว 3.07 ล้านล้านบาท (โดยจะครบกำหนดในปีนี้กว่า 1.96 ล้านล้านบาท) ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยประคับประคองให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของทางการ
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง