รัฐบาลสร้างที่พักพิงชั่วคราว รองรับชนกลุ่มน้อย

สังคม
26 มี.ค. 56
03:51
1,580
Logo Thai PBS
รัฐบาลสร้างที่พักพิงชั่วคราว รองรับชนกลุ่มน้อย

ปัจจุบันรัฐบาลไทยเปิด "ศูนย์พักพิงชั่วคราว" เพื่อรองรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ 9 ศูนย์ กระจายอยู่ใน 4 จังหวัดภาคตะวันตก คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี

 1.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีพื้นที่ประมาณ 1,148 ไร่ ผู้หนีภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงคริสต์ (เคเอ็นยู) ปัจจุบันมีจำนวน 30,673 คน

2.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก ผู้หนีภัยมีจำนวน 12,692 คน มีทั้งกลุ่มกะเหรี่ยง กลุ่มมุสลิม กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มปะโอ กลุ่มระหุ กลุ่มพม่า กลุ่มฉาน กลุ่มก่อลาคา กลุ่มฮินดู กลุ่มคะยา กลุ่มคะฉิ่น กลุ่มปะหล่อง และกลุ่มชิน
3.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ผู้หนีภัยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ปัจจุบันมีจำนวน 15,923 คน

      

4.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ภายในแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือพื้นที่บ้านปางควาย กับบ้านปางแทรกเตอร์ ผู้หนีภัยมีหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ ปัจจุบันมีจำนวน 13,548 คน
5.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ริมลำห้วยแม่ลามาหลวงและแม่น้ำยวม ระยะทางยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร ปัจจุบันมีประชากรจำนวน 14,425 คน
6.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.แม่สามแลบ มีเนื้อที่ราว 800 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นผู้หนีภัยชาวกะเหรี่ยง มีประชากรจำนวน 15,694 คน
7.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เนื้อที่ประมาณ 140 ไร่ ปัจจุบันมีผู้หนีภัยจำนวน 2,248 คน
8.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ส่วนใหญ่ผู้อพยพเป็นชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งนักศึกษาพม่าบางส่วน ปัจจุบันมีประชากร 4,397 คน
9.พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจาการสู้รบบ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่รวม 175 ไร่ อยู่ห่างจากแนวพรมแดน 1 กิโลเมตร ผู้หนีภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ปัจจุบันมีจำนวน 3,104 คน

    
 

สรุปยอดผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ 9 แห่ง มีจำนวน 112,704 คน เป็นชาย 54,463 คน หญิง 58,241 คน
ทั้งนี้หากกล่าวถึงความเป็นมาของพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย -พม่าแล้ว มีจุดเริ่มต้นเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน จากสาเหตุความขัดแย้ง และการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ใกล้แนวชายแดน

กระทั่งรัฐบาลทหารพม่ามีนโยบายปราบปรามชนกลุ่มน้อยขั้นเด็ดขาดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา โดยทุ่มกำลังปราบปรามชนกลุ่มน้อยติดอาวุธทุกกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้ชุมชนของผู้หนีภัยต้องกลายเป็น "สนามรบ" จึงไม่สามารถอยู่ในเขตแดนพม่าได้ ต้องหนีภัยข้ามมายังเขตไทย รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดดันจนต้องถอยร่นเข้ามาด้วย

 
เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ทะลักเข้ามากขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยชุดก่อนๆ ต้องจัดระเบียบชายแดน ด้วยการตั้งพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบขึ้นหลายแห่ง
ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทยด้วยการส่งกองกำลังเข้ามาเผาพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน
ทำให้ทางการไทยต้องจัดระเบียบพื้นที่พักพิงอีกครั้ง ด้วยการยุบศูนย์อพยพที่กระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก แล้วลดลงเหลือเพียง 9 แห่งในจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-พม่า 4 จังหวัด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี และกาญจนบุรี และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง