ผอ.โรงพยาบาลรามัน หวั่นผู้ป่วยได้รับผลกระทบหลังแพทย์ขอย้าย เหตุไม่พอใจเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่

26 มี.ค. 56
13:28
641
Logo Thai PBS
ผอ.โรงพยาบาลรามัน หวั่นผู้ป่วยได้รับผลกระทบหลังแพทย์ขอย้าย เหตุไม่พอใจเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่

ความไม่ชัดเจนในรายละเอียด การแบ่งพื้นที่และกรอบอัตราค่าตอบแทนตามภาระงาน มาแทนการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โดยล่าสุด มีแพทย์หลายคนแสดงความจำนง ขอย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อแสวงหาโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้รับบริการ

หลังทราบข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นไปตามภาระงาน หรือ 4P4 ก็ทำให้เเพทย์โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา กลุ่มหนึ่ง กังวลใจกับการเปลี่ยนเเปลงครั้งนี้ เนื่องจากค่าตอบแทนตามภาระงานใหม่นี้ จะทำให้พวกเขาถูกปรับลดเงินเบี้ยเลี้ยงส่วนหนึ่งลงไปด้วย

<"">

 

เเม้ทุกคนจะเข้ามาที่นี่ด้วยความมุ่งมั่นเเละตั้งใจ ที่จะรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เเต่การปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งนี้ ได้บั่นทอนกำลังใจในการทำงานของพวกเขา โดยเฉพาะกับเเพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้ หลายคนจึงคิดที่จะขอย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อเเสวงหาโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพ

ปัจจุบัน โรงพยาบาลรามัน มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300-400 คนต่อวัน ในขณะที่มีเเพทย์ประจำโรงพยาบาลอยู่เพียง 8 คน เเละและทันทีที่ทราบข่าวปรับเปลี่ยนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำให้แพทย์ แจ้งความจำนงขอย้ายออกจากพื้นที่แล้วจำนวน 3 คน

แม้ว่าแพทย์ในโรงพยาบาลจะเพิ่มมากขึ้นหลังปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2551 แต่สัดส่วนของเเพทย์ต่อจำนวนประชากรที่มากในพื้นที่ ก็ยังเป็นภาระงานที่หนัก และยิ่งมีข่าวการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ยิ่งทำให้เเนวโน้มแพทย์ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่สถานการณ์ความรุนเเรงในพื้นที่ก็ยังไม่สงบ สภาวะการณ์เช่นนี้ จึงอาจเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนในพื้นที่ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น

<"">
<"">

 

นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา สะท้อนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น บั่นทอนกำลังใจบุคลากรในโรงพยาบาล เเละหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนผู้รับบริการ เนื่องจากไม่มีหมอคอยดูแลอย่างทั่วถึง

เเม้กระทรวงสาธารณสุข จะอ้างว่า การปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบ 4P4 จะทำให้แพทย์ชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้น จากภาระงานที่ทำ เเต่เเพทย์โรงพยาบาลชุมชนหลายเเห่งกลับมองว่า รูปเเบบนี้ไม่เหมาะกับการบริหารจัดการของโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐไม่ได้แสวงหาผลกำไร เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน อีกทั้งไม่สามารถสะท้อนคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลได้ สวนทางกับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปัจจุบัน ที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถชดเชยค่าเสียโอกาส ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่พิเศษได้และยังช่วยกระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ชนบทมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง