ถอดบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 2

26 มี.ค. 56
13:32
251
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 2

ความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในอาเจะห์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซีย และขบวนการเสรีอาเจะห์ ต่างพยายามที่จะพูดคุยให้ได้ข้อตกลง แม้ว่ากระบวนการจะล่มไปหลายต่อหลายครั้ง

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ก็คือการเดินหน้าอย่างเป็นเอกภาพภายในขบวนการเสรีอาเจะห์ ที่แม้จะมีการต่อสู้กับทหารอย่างดุเดือด แต่ก็ยังพยายามแสวงหาสันติภาพ ติดตามในรายงานบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 2

ความขัดแย้งตลอด 30 ของอาเจะห์ ไม่สามารถจบลงได้ด้วยอาวุธ แต่สำเร็จได้ด้วยการเจรจา" นี่คือคำพูดของเตกูมาลิค มามูด ประธานสภาอาเจะห์คนปัจจุบัน ในอดีตเขาและพี่ชาย เป็นหนึ่งแกนนำพลัดถิ่นของขบวนการเสรีอาเจะห์ และมีส่วนในกระบวนการเจรจารอบเฮลซิงกิ ที่นำมาซึ่งสันติภาพ
                          

<"">

เตกูมาลิคเล่าว่า กระบวนการเจรจาตั้งแต่ต้นจนจบนั้น กินเวลาหลายปี ผ่านช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีถึง 4 คน ขณะที่ความพยายามเพื่อเริ่มต้นพูดคุยสันติภาพ เริ่มต้นขึ้นในสมัยประธานาธิบดียูซุฟ ฮาบิบี แต่การเริ่มเจรจาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น เริ่มขึ้นในรอบเจนีวา สมัยของประธานาธิบดีอับดุล เราะห์มัน วาฮิด ซึ่งยื่นมือเข้าหาขบวนการเสรีอาเจะห์ก่อน ด้วยการส่งนายบันดาน กุนาวัน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาพบผู้บัญชาการของกลุ่มGAM ถึงอาเจะห์ในช่วงที่การต่อสู้ยังรุนแรง รวมทั้งรับตัวบิดาของแกนนำที่กำลังป่วยไปรักษาที่กรุงจาการ์ต้า ทำให้แกนนำกลุ่ม GAM มีความมั่นใจที่จะเจรจา

เตกูอัดนัล สมาชิกระดับแกนนำของกัมอีกคน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาอาเจะห์ ว่า ณ ขณะนั้น ทั้งฝ่ายกัมและฝ่ายรัฐบาลต่างสูญเสียกันมามาก ทั้งในแง่ของชีวิตประชาชน ทรัพย์สิน และโอกาสในด้านต่างๆ จึงอยากหยุดต่อสู้ เมื่อแกนนำตัดสินใจที่จะร่วมเจรจาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการทำความเข้าใจกับผู้นำในระดับต่างๆของกลุ่ม เพื่อให้เกิดเอกภาพ สร้างพลังต่อรองกับรัฐบาลได้

พื้นที่จังหวัดอาเจะห์ มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพียงกลุ่มเดียว แต่เนื่องจากแกนนำแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แกนนำพลัดถิ่น ที่สวีเดน ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับนานาประเทศ กับแกนนำในอาเจะห์ซึ่งบัญชาการการรบและวางยุทธวิธีทางทหารในพื้นที่ ประสานกับผู้บัญชาการระดับเขตที่ควบคุมกองกำลังก่อเหตุ

แกนนำฝ่ายการเมืองและผู้บัญชาการในอาเจะห์ ประสานกันผ่านทีมเจรจา และสื่อสารลงไปยังระดับปฏิบัติการณ์ เพื่อพยายามให้มีความเห็นตรงกันในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ รวมทั้งต้องรักษาประโยชน์ของทางกลุ่ม เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารับใช้รัฐบาลอินโดนีเซีย

มูฮารัม เป็นหนึ่งใน 4 ผู้บัญชาการระดับเขตของกลุ่มGAM เขาเคยคุมกองกำลัง 3,000 นาย เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้เขาลุกขึ้นสู้เมื่อตอนอายุได้ 23 ปี ว่าเป็นเพราะเขาคับแค้นใจที่ชาวอาเจะห์ไม่ได้รับความยุติธรรม และมองว่าพวกเขาเป็นประชาชนชั้น 2 บนผืนดินที่ปู่ย่าตายายสร้างมา

เขายังกล่าวว่า ช่วงการต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุด คือช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก พวกเขาต้องอดมื้อกินมื้อ นอนกลางดิน และเดินทางอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องโจมตีและหนีการไล่ล่าของทหารที่ระดมกำลังเข้าพื้นที่กว่า 50,000 นาย และสังหารกองกำลังกัมไปกว่า 5,000 คน แทบไม่มีโอกาสจะได้พบหน้าครอบครัว ดังนั้นเมื่อได้รับทราบถึงความพยายามในการเจรจาสันติภาพ จึงเลือกที่จะคว้าไว้

มูฮารัม ยืนยันในคำพูดเดียวกับเตกูมาลิค ที่เป็นแกนนำฝ่ายการเมืองว่า ท้ายที่สุดสงครามก็ต้องจบลง และการที่ความขัดแย้งจะจบได้ ก็ต้องอาศัยความตั้งใจจริง ความชาญฉลาด และความมุ่งมั่นของคนที่เป็นผู้นำ
                          

<"">

ด้วยเงื่อนไขแรกของกลุ่มกัม คือเอกราชของอาเจะห์ ซึ่งสวนทางกับเงื่อนไขแรกของรัฐบาล ที่อินโดนีเซียจะต้องเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นสาเหตุให้การเจรจาล่มหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งยังคงมีความพยายามที่จะฟื้นการเจรจาขึ้นใหม่ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ การต่อสู้ สร้างแต่ความสูญเสีย

กว่าที่สันติภาพจะงอกงามในอาเจะห์ ก็ต้องใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 7 ปี จนถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างยอมถอยคนละก้าวคือฝ่ายกัม ยอมยุติที่จะแยกตัวเป็นเอกราช แลกกับการปกครองตนเอง ขณะที่รัฐบาลยอมตัดผลประโยชน์และอำนาจควบคุมพื้นที่อาเจะห์ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง