จับตา"ฝ่ายค้าน-รัฐบาล"อภิปรายร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

การเมือง
27 มี.ค. 56
13:09
54
Logo Thai PBS
จับตา"ฝ่ายค้าน-รัฐบาล"อภิปรายร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและเหตุผล หรือ วาระที่ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานด้านการขนส่งคมนาคมของประเทศ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันที่ 28 - 29 มี.ค.นี้ จะผ่านไปได้ด้วยความราบรื่น ขณะที่ กลุ่ม 40 ส.ว.ยืนยันในจุดยืนที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายฉบับนี้และพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพราะเชื่อว่า มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนที่จะอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้จะยอมรับว่า สนับสนุนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีการกู้เงิน โดยประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุ กรอบการอภิปรายของ ส.ส. ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ซึ่งจะประกอบไปด้วยประเด็นใดบ้าง และการเปิดอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลทางการเมืองอย่างไร
 
การเจอกันอย่างเป็นทางการของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ถือเป็นการเผชิญหน้าที่ต้องว่ากันด้วยเหตุและผล เพราะเวทีนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหักล้างกันด้วยข้อมูล และแน่นอนว่า ย่อมเกิดผลทางการเมือง
                    

<"">

แม้วาระสุดท้ายของการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากก็ต้องลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 แต่เนื้อหาของการอภิปรายชี้แจงโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการอภิปรายซักถามของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหมายถึงฐานมวลชนผู้สนับสนุน
          
ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะขั้นตั้งวอร์รูมหรือไม่ และผู้อภิปรายมากน้อยเพียงใด อาจไม่สำคัญเท่าเนื้อหาการอภิปราย ซึ่งเมื่อประมวลแล้ว จะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การกู้เงินครั้งเดียว ที่เป็นภาระหนี้รวมดอกเบี้ย กว่า 5 ล้านล้านบาท พร้อมกับการระบุถึงภาระหนี้ ที่จะผูกพันไปถึง 12 รัฐบาล และเห็นว่า น่าจะมีช่องทางอื่นที่จะทำได้เช่นกัน
 
<"">
 
<"">
             
ขณะที่ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลชัดเจนว่า ต้องสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะข้อความที่เป็นข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์เข้าห้องประชุมพรรคเพื่อไทย และมีกระแสว่า ข้อกำชับสั่งการเข้าข่ายขู่ ไว้ว่า หากขาดประชุมและไม่สนับสนุน อาจถึงขั้น ถอนชื่อจากการเป็นส.ส.และเป็นผู้สมัครในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า

พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมกรอบการอภิปรายไว้พร้อมกับการรวบรวมข้อมูลที่จะอภิปรายชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องที่อาจถูกพาดพิงด้วย/ขณะที่พรรคเพื่อไทยกล่าวย้ำที่จะต้องยืนยันความจำเป็นเร่งด่วนและชี้ให้เห็นว่าโครงการขนาดใหญ่คือผลงานชิ้นสำคัญ

ผู้อภิปรายชี้แจงหลัก คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง,นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ และมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ร่วมด้วย ซึ่งต้องชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดช่องระหว่าง คนรวยกับคนจน ให้แคบลงและย้ำว่า การกู้เงินพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำ ยกเว้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ผลักดันสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และแม้จะใช้เวลานานในการชำระหนี้ แต่ทรัพย์สินที่ลงทุนไป คือความมั่นคงของประเทศ
                   

<"">

ส่วนผู้อภิปรายหลักของฝ่ายค้านคือ ผู้นำฝ่ายค้าน"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"และนายกรณ์ จาติกวณิชแล้ว ยังมีทีม ส.ส.อีก 40 คน โดยตั้งไว้ 3 ถึง 4 ประเด็น คือ หลักการ การกู้ที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 ซึ่งวิธีการดำเนินโครงการมีความจำเป็นจริงหรือ,ซึ่งรัฐบาล เคยกู้เงินมาแล้ว ทั้งงบฯกลาง 102,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 305,000 ล้านบาท ทั้งยังจะเทียบเคียงพฤติกรรม เพื่อชี้ให้เห็นการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้

ยังมีท่าทีของ ส.ว.กลุ่ม 40ที่เตรียมจะยื่นร่างพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อประธานรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (28 มี.ค.) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันนั้นในทันทีที่ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติก็จะยื่นให้ตีความด้วย
 

<"">
<"">

ส.ว.ในกลุ่ม 40 เชื่อว่า พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ มีความเกี่ยวข้องกับ ร่างพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท เพราะเนื้อหาของกฎหมายที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ มีการยกเลิกหลักเกณฑ์การประมูล โดยให้อำนาจ ครม.อนุมัติโครงการและงบประมาณ โดยเฉพาะกำหนดให้ "เอกชนลงทุนบางส่วนหรือเป็นกรรมสิทธิ์ทั้งหมดได้" จึงกลายเป็นข้อสังเกตว่า อาจเกิดการไซฟ่อนทรัพย์สินของรัฐได้

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท ไม่เขียนรายละเอียดของโครงการและยังผูกพันการใช้จ่ายเงินกู้ 7 ปี ซึ่งตามหลักการอาจขัดมาตรา 169 ว่าด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินด้วยเหตุจำเป็น ดังนั้นเมื่อร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบ ถือเป็นความผิดสำเร็จ ส.ว.จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 154 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย

บริบทที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนนี้ ไม่เพียงแค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แต่การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตราหรือการเคลื่อนไหวเตรียมปรับ ครม.ยังคงมีภาพซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง