ถอดบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 3

27 มี.ค. 56
14:05
145
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนสันติภาพอาเจะห์ ตอนที่ 3

การสร้างสันติภาพในจังหวัดอาเจะห์นั้น มีจุดเริ่มต้นจากการแสดงเจตน์จำนงค์ของคนในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายคน ที่มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดสันติภาพ ซึ่งนอกจากเจตน์จำนงทางการเมืองแล้ว ยังต้องอาศัยทั้งความกล้าหาญในการเป็นผู้เริ่มต้นยื่นมือเข้าหาขบวนการก่อน และสิ่งสำคัญคือความต่อเนื่องของการดำเนินการ

อดีตรองประธานาธิบดียูซุฟ คัลล่า  ประธานาธิบดีสุสิโล่ บังบัม ยูโดโยโน่, ฮัซซัน วิรายุดา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหอกในการผลักดันสันติภาพอาเจะห์

โดยในช่วงปี 2541 ที่เริ่มเปลี่ยนนโยบายต่ออาเจะห์ และยกเลิกเขตหวงห้ามทางทหาร พล.ท.ยูโดโยโน่ เป็นหนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชน หวังให้เกิดสันติภาพ รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานด้านอาเจะห์ขึ้น คณะทำงานนี้มีบทบาทต่อเนื่องกระทั่งในช่วงที่ดูเหมือนกระบวนการจะเดินต่อไปไม่ได้หลังการเจรจารอบเจนีวาล่มไปในปี 2545

แต่ทีมงานยังเดินหน้าประสานงานข้อมูลกับคณะทำงานภายใต้นายฮัซซัน วิรายุดา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และคณะทำงานของนายยูซุฟ คัลล่า ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเจรจาในขั้นต่อๆมา และขึ้นเป็นหัวหน้าคณะเจรจาในรอบเฮลซิงกิ ที่ประสบความสำเร็จ

   

แต่จุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง คือ นายบันดาน กุนาวัน อดีตรัฐมนตรีสำนักประธานาธิบดีในสมัยอดีตประธานาธิบดีอับดุล เราะห์มัน วาฮิด ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลเดินทางไปยังอาเจะห์ในปี 2532 เพื่อติดต่อขอเริ่มการพูดคุยสันติภาพกับนายอับดุลลาห์ ซาเฟฮีน ผู้บัญชาการและโฆษกกลุ่มกัมในอินโดนีเซีย ณ ขณะนั้น การเข้าพบซาอับดุลลาห์ ซาเฟฮีน ไม่ใช่เรื่องง่าย

นายกุนาวันบอกว่า "เขามีเพื่อนคนหนึ่ง นับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็เป็นบุตรบุญธรรมของซาเฟฮีน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักรบอิสลาม ดังนั้นจึงมองว่าหากซาฟาฮีนใจคอกว้างขวาง และเห็นแก่มนุษยธรรมเพียงพอที่จะรับคนต่างศาสนาเป็นบุตรบุญธรรม จึงน่าที่จะพูดคุยกันได้ และได้ขอร้องให้เพื่อนติดต่อเพื่อเข้าพบ"

การลงพื้นที่อาเจะห์ และได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของกองกำลังกัม ทำให้เขาฉุกคิด ว่าสิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำ คือสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้ทหารในพื้นที่กระทำความเดือดร้อน หรือพูดจาหยาบหยามน้ำใจคนที่มีอุดมการณ์แตกต่าง

หนึ่งในข้อเสนอแนะของนายกุนาวันในการเริ่มต้นคุยกับขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน คือต้องหาสาเหตุ และจำแนกให้ได้ว่าปัญหาที่ทำให้คนจับอาวุธคืออะไร เป็นปัญหาทางด้านการเมือง สังคม หรือความยุติธรรม

ดร.ซอฟยัน จัลลิล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารในรัฐบาลประธานาธบดียูโดโยโน่ สมัยแรก เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนเจรจา 5 คนของรัฐบาล ที่เริ่มเปิดฉากเจรจารอบเฮลซิงกิอย่างเป็นทางการในปี 2548 ให้แง่คิดเกี่ยวกับช่วงของการเจรจาต่อรอง คือ ต้องทิ้งเงื่อนไขทั้งหมด นำฝ่ายต่างๆมานั่งในห้องเดียวกัน และคุยกันโดยตรงต่อหน้า เพื่อสังเกตอารมณ์ ปฏิกิริยา ภาษากาย และที่สำคัญตัวกลางที่เป็นผู้ดำเนินการเจรจาต่อรอง จะต้องเป็นคนที่มีความเด็ดขาด มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งในกรณีของอาเจะห์ คือนายมาร์ตี อาติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์

นอกจากนี้การเลือกตัวแทนที่จะเข้าสู่โต๊ะเจรจาก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น เมื่อทราบว่าฝ่ายกัมไม่ชอบคนจากเกาะชวาตะวันออก เพราะมองว่าเข้าไปตักตวงผลประโยชน์และกลืนชาติ รองประธานาธิบดีคัลล่าที่เป็นประธานฝ่ายรัฐบาลจึงคัดเลือกตัวแทนที่มาจากเกาะหรือพื้นที่อื่นของอินโดนีเซีย เช่น ตัวดร.จัลลิล ก็เป็นชาวอาเจะห์โดยกำเนิด ขณะที่ผู้แทนอีก 3 คนก็มาจากเกาะสุลาเวสีใต้ เกาะบาหลี และชวาตะวันตก

ดร.จัลลิลบอกว่า "ช่วงเวลาที่ยากที่สุดของการเจรจา ก็คือการต้องยอมรับฟังความคิดเห็นที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่ท้ายที่สุด เมื่อคุยกันมากเข้า ความแตกต่าง หรือความเห็นตรงข้ามกัน ก็จะค่อยๆแคบลงเรื่อยๆ จนได้เป้าหมายร่วมกันในที่สุด แต่สิ่งที่ต้องทำ คือต้องพร้อมที่จะเริ่มพูดคุยกันโดยตรง"

   

การต่อรองอย่างเข้มข้นดำเนินไปในเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยสิ่งเดียวที่รัฐบาลอินโดนีเซียขอจากฝ่ายกัม คือไม่มีการแยกตัวเป็นเอกราช ท้ายที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน คือการจัดตั้งเขตปกครองตนเอง แบ่งส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่แก่อาเจะห์ร้อยละ 70 รัฐบาลกลางร้อยละ 30 

การนิรโทษกรรมสมาชิกกัมทุกคน ยกเว้นผู้กระทำผิดทางอาญา คืนสัญชาติแก่แกนนำกัม  การส่งมอบและทำลายอาวุธแลกกับการถอนทหาร 3 หมื่นนายออกจากพื้นที่ และจัดสรรงบประมาณร้อยละ 1.5 ของงบประเทศให้อาเจะห์ 15 ปีติดต่อกันเพื่อช่วยพัฒนาอาเจะห์ โดยที่รัฐไม่ต้องทุ่มงบมหาศาลเพื่อปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่อีกต่อไป และผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คือประชาชนได้อยู่อย่างสันติ ทำให้อาเจะห์กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่จนถึงทุกวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง