จับตา "ผลกระทบ" ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เปิดทาง "แพทย์เฉพาะทางไหลเข้าเอกชน"

27 มี.ค. 56
14:08
215
Logo Thai PBS
จับตา "ผลกระทบ" ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เปิดทาง "แพทย์เฉพาะทางไหลเข้าเอกชน"

ขณะนี้มีแพทย์เฉพาะทางปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน 775 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 574 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีแพทย์เฉพาะทางไว้คอยรักษา ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัด แต่มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาเป็นจ่ายตามภาระงาน ทำให้มีโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัด เริ่มทาบทามแพทย์เฉพาะทางไปทำงานด้วย

ผู้ป่วยเด็กที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้หอผู้ป่วยใน แผนกเด็ก รพ.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น มีสภาพแออัด และในจำนวนนี้ยังรวมถึงเด็กที่ป่วยด้วยโรคธารัสซีเมีย ซึ่งต้องเข้ามารับเลือดทุกๆ เดือน

จันทรา ต้อยสน ชาว อ.ภูผาม่าน เลือกที่จะพาหลานวัย 5 ขวบ มารับเลือดที่ รพ.ชุมแพ เพราะระยะทางจากบ้านมาที่นี่ ใกล้กว่าการเดินทางไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งกุมารแพทย์ แพทย์เฉพาะทางโรคของเด็ก ประจำในโรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ ทำให้ชาวบ้านสบายใจและเชื่อมั่นในรักษามากขึ้น และยังมองไม่ออกว่า หากไม่มีแพทย์เฉพาะทางแล้ว ชาวบ้านที่นี่จะเดือดร้อนเพียงใด

   

พญ.สิริพร แซ่เล่า เป็น 1ใน 3 กุมารแพทย์ ที่มาประจำที่โรงพยาบาลชุมแพ เธอยอมรับว่า การรักษาโรคในเด็ก เป็นศาสตร์เฉพาะทางที่ควรกระจายตัวไปยังพื้นที่ที่ห่างไกล เพราะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กในชนบทจำนวนมากเข้าถึงการรักษาที่ดี

จึงเป็นเหตุผลที่เธอเลือกมาอยู่โรงพยาบาลชุมชน แต่เรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ก็ถือเป็นอีกปัจจัย ที่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงาน ซึ่งนโยบายการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ให้เป็นไปตามภาระงาน หรือ พีโฟร์พี ที่ยังไม่ชัดเจน ก็ยิ่งทำให้ต้องมาพิจารณาเส้นทางในอนาคตใหม่

ด้านทพญ.นัยนา จรสุขัง ทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปากเพียงคนเดียว ของ รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ที่เลือกเรียนต่อเฉพาะทางสาขานี้ และกลับมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลมาแล้วกว่า 3 ปี กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยด้านทันตกรรมได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทัดเทียมโรงพยาบาลศูนย์

ซึ่งทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปากเป็นบุคลากรทางการแพทย์อีกกลุ่ม ที่กำลังเป็นที่ต้องการของโรงพยาบาลเอกชน และทันทีที่มีข่าวการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย  ทพญ.นัยนา จึงถูกทาบจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งของจ.อุดรธานีทันที

   

ขณะที่ประธานชมรมแพทย์ชนบทยอมรับว่า การปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายครั้งล่าสุดในปี 2551 ทำให้ผลลัพธ์ด้านบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น ยิ่งส่งผลต่อการให้บริการ เพิ่มโอกาสทางการรักษาได้มากขึ้น แต่การปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นไปตามภาระงาน ผิดวัตถุประสงค์ในการกระจายแพทย์สู่ชนบท

ทั้งนี้ จากข้อมูลภาระงานของบุคลกรทางการแพทย์ทั่วประเทศ พบว่า ในปี 2555 แพทย์โรงพยาบาลศูนย์-ทั่วไป มีกว่า 8,700 คน โดยแพทย์ 1 คน ให้บริการผู้ป่วยในสัดส่วนร้อยละ 9.26 ต่อวัน ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลชุมชน มีน้อยกว่าเพียง 3,400 คน แต่แพทย์ 1 คนต้องให้บริการถึงร้อยละ 47.95 ต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่า หากแพทย์โรงพยาบาลชุมชนลาออกมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในพื้นที่อย่างปฏิเสธไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง