"กรณ์" หวั่นดอกเบี้ยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ทำหนี้พุ่ง 6 ล้านล้านบาท

การเมือง
28 มี.ค. 56
14:30
58
Logo Thai PBS
"กรณ์" หวั่นดอกเบี้ยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ทำหนี้พุ่ง 6 ล้านล้านบาท

"กรณ์" ตั้ง 3 ข้อสังเกตรัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จี้ทบทวนอัตราดอกเบี้ย อาจต้องจ่ายมากถึง 6 ล้านล้านบาท ชี้ หากทำหนี้สาธารณะแตะร้อยละ 50 ให้ถือว่าพ.ร.บ.กู้เงินฯ เป็นโมฆะ

วันนี้ (28 มี.ค.) รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน  2 ล้านล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการกู้ยืมเงินนอกระบบ แทนที่จะหารายได้จากแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ในประเทศ และรัฐบาลสามารถแบกรับภาระหนี้สาธารณะได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของเงิน รวมถึง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลบริหารงานติดขัดได้ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลจะต้องชี้แจง

ขณะที่ยังมีข้อกังวลจากการที่รัฐบาลชี้แจงว่า จะกู้เงินในประเทศมากกว่านอกประเทศ โดยเห็นว่า ขณะนี้มีเอกชนต้องการลงทุนในประเทศจำนวนมาก หากรัฐบาลกู้เงินในประเทศด้วย จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการแย่งเงินลงทุนกัน

นายกรณ์ ยังระบุว่า กรณีที่รัฐบาลชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะคงที่เป็นเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ยประมาณ 3 ล้านล้านบาทนั้น ไม่มีสิ่งใดมาการันตีได้ เพราะถ้าหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ต่อปี ก็อาจทำให้รัฐบาลต้องใช้หนี้เฉพาะดอกเบี้ยมากถึง 6 ล้านล้านบาท ซึ่งอยากให้รัฐบาลพิจารณาข้อกังวลในส่วนนี้ด้วย

นอกจากนี้ เห็นว่า การที่รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษ เพื่อกู้เงินโดยอ้างว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ทำให้รัฐบาลเสียวินัยการบริหารการเงิน ซึ่งอาจทำให้ประเทศต้องมีหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง การกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2555 แต่ขณะนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ 

ทั้งนี้ นายกรณื ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาโครงการดังกล่าวอย่างจริงจังอีกครั้ง และบรรจุเอกสารเพิ่มเติมที่มีรายละเอียดของโครงการในบัญชีแนบท้าย เพื่อป้องกันปัญหาการโยกย้ายงบประมาณ หรือหากมีโครงการใดเบิกจ่ายเงินในงบประมาณ 2 ล้านล้านบาทล่าช้ากว่ากำหนดให้ถือว่าสละสิทธิ์ รวมทั้งหากยกเลิกโครงการจะต้องไม่โอนเงินงบประมาณส่วนนั้นไปให้โครงการอื่น หรือส่วนอื่น ๆ

รวมถึงต้องไม่ใช้มติคณะรัฐมนตรียกเว้นระเบียบของการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนหากบริหารจนทำให้งบประมาณขาดดุล หรือมีหนี้สาธารณะแตะที่ร้อยละ 50 ของจีดีพี ขอให้ถือว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นโมฆะ เพื่อลดความเสี่ยงการบริหารการเงิน และรักษาเสถียรภาพของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า การออกเสียงเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมาจากเสียงข้างมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง