"ยุววิจัยอาเซียน" เวทีเรียนรู้ "รากเหง้า-ความสัมพันธ์" ระหว่างไทย-กัมพูชา

ศิลปะ-บันเทิง
31 มี.ค. 56
15:40
280
Logo Thai PBS
"ยุววิจัยอาเซียน" เวทีเรียนรู้ "รากเหง้า-ความสัมพันธ์" ระหว่างไทย-กัมพูชา

พรมแดนที่ชิดติดกันระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ทำให้ผู้คนทั้งสองฝั่งมีความใกล้ชิด และมีประวัติศาสตร์ รวมถึงวัฒนธรรมร่วมกันมาอย่างยาวนาน การเดินทางศึกษาร่องรอยอารยธรรมในอดีตของกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอีกวิธีการเชื่อมสัมพันธ์ของผู้คนสองฝั่งในโครงการยุววิจัยอาเซียนไทย-กัมพูชา

ทันทีที่รู้ว่าสะพานใหญ่ที่เชื่อมไปสู่สด๊กก๊อกธม ปราสาทหินในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชาเป็นระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร ก็ทำให้เยาวชนไทยและกัมพูชาทั้งหมด 40 คนในโครงการยุววิจัยอาเซียน จินตนาการถึงความสัมพันธ์ของผู้คนสองฝั่งที่ใช้เส้นทางนี้สัญจรสู่กัน การได้มาเห็นปราสาทนครวัด พร้อมฟังบรรยายยิ่งทึ่งไปกับภูมิปัญญาการสร้างปราสาทของคนสมัยก่อน

โดย "อิม สุขฤทธี" ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสาร องค์การอัปสรา ประเทศกัมพูชา บอกว่า แม้ว่าแหล่งโบราณสถานต่างๆที่เยาวชนยุววิจัยสำรวจครั้งนี้จะอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ หากสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติที่ทุกคนควรช่วยกันดูแล ซึ่งความคืบหน้าของโครงการวิจัยครั้งนี้ที่ไม่ได้มาจากคณะผู้วิจัยชาวไทยหรือกัมพูชาเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ ดังนั้นความรู้และความสัมพันธ์ที่กลุ่มเยาวชนได้มาใช้เวลาร่วมกันครั้งนี้ หวังให้เด็กๆจะนำไปต่อยอดในอนาคต

การใช้ปลาช่อนเรียกฝน แทนการแห่นางแมวอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย  เป็นตัวอย่างประเพณีและความเชื่อที่คล้ายกันของคนสองฝั่ง นำเสนอผ่านการแสดงของเยาวชนโรงเรียนทัพพระยาวิทยา จังหวัดสระแก้ว สะท้อนสัมพันธ์ไร้พรมแดนของผู้คนในอดีต

   

วนิดา ปินะถา เยาวชนโรงเรียนทัพพระยาพิทยา จ. สระแก้ว เล่าวว่า วัฒนธรรมที่มันเหมือนกัน ก็น่าจะแสดงว่าเราอาจจะมีบรรพบุรุษจากที่เดียวกันก็ได้ เพราะว่าเมื่อก่อนมันอาจจะไม่ได้แบ่งเขตกั้น เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมมันอาจจะอยู่ในที่ที่นึง แล้วเราแบ่งเขตกั้นเขตแดนทีหลัง

ขณะพ.อ. รศ. สุรัตน์ เลิศล้ำ หัวหน้าโครงการยุววิจัยเซียน บอกว่า เราอยากจะให้เขาได้รู้ว่าอะไรเป็นสมบัติ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ นี่แหล่ะคือสิ่งที่เป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ตั้งแต่อดีตกาล เราจะมาแบ่งแยกทำไม เพราะเส้นขีดพรมแดนทำไมจะต้องทำให้คนไม่รู้จักกันเลย จริงๆแล้วเราเป็นคนที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งถ้าเราละลายพฤติกรรมตรงนี้ได้ ประเด็นที่มันเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้ มันก็จะลดลง

โครงการยุววิจัยอาเซียนระหว่างนักเรียนไทย-กัมพูชาจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยนำความรู้จากงานวิจัยการตามรอยเส้นทางราชมรรคา ของนักวิจัยไทยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  และองค์การอัปสรา ประเทศกัมพูชา มาถ่ายทอดสู่เยาวชนจาก 4 โรงเรียน ไม่เพียงได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์ แต่ยังได้สืบค้นเรื่องราวของชุมชน โดนหวังให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นแกนนำสานสัมพันธ์ในท้องถิ่นต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง