คปก. เสนอขยายความคุ้มครองแรงงาน – ตั้งสำนักงานประกันสังคมเป็น "นิติบุคคล"

สังคม
2 เม.ย. 56
06:50
172
Logo Thai PBS
คปก. เสนอขยายความคุ้มครองแรงงาน – ตั้งสำนักงานประกันสังคมเป็น "นิติบุคคล"

โดยยื่นความเห็นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ก่อนทีดีอาร์ไอ ร่วมสถาบันพระปกเกล้า จัดแสดงความคิดเห็น

 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯสภาผู้แทนราษฎร หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับที่เสนอโดยครม.และฉบับที่เสนอโดยนายเรวัต อารีรอบกับคณะ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556  แต่ไม่รับหลักการร่างฯฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตียกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 และฉบับนายนคร มาฉิม และคณะเป็นผู้เสนอ

 
ในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะฉบับนี้ คปก. มีความเห็นใน 2 ประเด็นหลักคือ การที่สภาผู้แทนฯมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับประชาชน และประเด็นหลักการและสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ทั้ง 4 ฉบับ  
 
ประเด็นแรก การที่สภาผู้แทนฯมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับประชาชน คปก.เห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญรับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า1ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้น การพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
สำหรับหลักการและสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ คปก.เห็นว่า ควรขยายขอบเขตการคุ้มครอง โดยควรขยายหรือเปลี่ยนนิยาม ”ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง” ให้ครอบคลุมแรงงานกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและการจ้างงานในภาคเกษตรด้วย เพื่อส่งผลให้แรงงานทั้งสองกลุ่มอยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทดแทนทั้ง 7 กรณีและผู้จ้างงานร่วมสมทบในเงินกองทุนประกันสังคม ส่วนการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมควรมีความเป็นอิสระ โดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความคล่องตัว
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคมในตำแหน่งประธานกรรมการของคณะกรรมการประกันสังคมต้องไม่เป็นข้าราชการ  และได้มาจากการสรรหาโดยกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควรมาจากการสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิงและชายด้วย ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฯ กำหนดให้มี “คณะกรรมการแพทย์”เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็น และให้คำปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคมเกี่ยวกับการดำเนินงานในการบริการทางการแพทย์ ซึ่งควรประกอบด้วยผู้แทนจากสภาวิชาชีพสาธารณสุข โดยให้คณะกรรมการประกันสังคมเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา
คปก.เห็นควรให้มีคณะกรรมการการลงทุน โดยอ้างอิงจากงานวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานของสำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเสนอให้จัดโครงสร้างการบริหารสำนักบริหารการลงทุน เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหา ผลประโยชน์ของกองทุน เสนอแนะด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทุนประกันสังคมในภาพรวม 
 
โดยคณะกรรมการนี้ควรได้มาโดยกระบวนการสรรหาตามระเบียบที่คณะกรรมการประกันสังคมกำหนด นอกจากนี้ คปก.เห็นควรให้มีควรมีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบจากภายนอกที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการเงินให้ถูกต้อง และเปิดเผย เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลภายใต้กลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ  อย่างไรก็ตาม ทั้งคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการตรวจสอบ ไม่ปรากฏในร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับที่สภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการ
ส่วนประเด็นสิทธิหรือประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน คปก.เห็นว่า มีกรณีการลาออกที่ไม่ใช่ความสมัครใจแท้จริงของลูกจ้าง จึงควรนิยามเรื่องว่างงานให้มีความชัดเจนครอบคลุมกรณีที่มิได้สมัครใจลาออกดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ว่างงาน และในกรณีมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการหักค่าจ้างเพื่อนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนอาจเสียสิทธิและได้รับความเดือดร้อน คปก.เห็นควรกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับให้ผู้ประกันตนยังคงมีสิทธิในหลักประกันสังคมเช่นปกติ 
 
อย่างไรก็ดี การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ ลูกจ้างที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง) ขาดรายได้และมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเองฝ่ายเดียว (จ่ายสองเท่าแทนนายจ้าง) คปก.เห็นว่า ไม่สอดคล้องกับหลักการประกันสังคมที่ยึดหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข จึงควรมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อรักษาสถานภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และให้สามารถออกระเบียบกำหนดระยะเวลาการให้ความคุ้มครอง ภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม
 
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้่า จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง "ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม" ภายใต้โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย  ในวันที่ 5 เมษายน 2556 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง