ชี้จุดต่างเทียบ 3 ร่างกมความเสมอภาคระหว่างเพศ เผยร่างฯรัฐมีช่องโหว่กำหนดข้อยกเว้น“เลือกปฏิบัติ” เสี่ยงขัดสิทธิมนุษยชน

สังคม
2 เม.ย. 56
07:02
189
Logo Thai PBS
 ชี้จุดต่างเทียบ 3 ร่างกมความเสมอภาคระหว่างเพศ เผยร่างฯรัฐมีช่องโหว่กำหนดข้อยกเว้น“เลือกปฏิบัติ” เสี่ยงขัดสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) จัดสัมมนา “เปรียบเทียบ 3 ร่างกฎหมายด้านเสมอภาคระหว่างเพศ”

คปก.เผยปฏิรูปกม.สอดคล้องรธน. ดันกม.เสมอภาคระหว่างเพศฉบับปชช.

 
รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ เปิดเผย “บทบาทของคปก.เกี่ยวกับการขับเคลื่อนกฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ”ว่า คปก.มีบทบาทสำคัญในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง โดยอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงาน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
 
รศ.วิระดา กล่าวอภิปรายเปรียบเทียบข้อแตกต่างของ 3 ร่างกฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศจำนวน 3 ฉบับที่สำคัญ โดยอยู่ระหว่างรอบรรจุวาระในรัฐสภา คปก.โดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ความเสมอภาคระหว่างเพศและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้รวมถึงบัญญัติให้มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ 
 
ชี้จุดต่าง“เลือกปฏิบัติ” ร่างฯรัฐบาลระบุข้อยกเว้น เสี่ยงขัดหลักสิทธิมนุษยชน 
 
รศ.วิระดา กล่าวว่า ในร่างฯฉบับคปก.ได้ให้คำนิยามเรื่อง “เพศ” หมายถึง ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่ถูกกำหนดโดยสรีระ หรือความประสงค์ของเจ้าของสรีระนั้น และยังหมายรวมถึงเพศภาวะและเพศวิถีด้วย ฉะนั้นร่างฯฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ โดยต้องการส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ กล่าวคือ องค์กร หน่วยงาน ที่กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์จะต้องไม่เลือกปฏิบัติจะต้องส่งเสริมให้บุคคลเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน 
 
รศ.วิระดา กล่าวว่า ประเด็นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก คือ เรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยในร่างฯฉบับคปก. ระบุว่า เป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก การกีดกัน การไม่ยอมรับ การจำกัดหรือทำให้เสียสิทธิประโยชน์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพราะเหตุแห่งเพศ แต่ในร่างฯฉบับรัฐบาล ได้เพิ่มเติมไปว่า โดยปราศจากความชอบธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือประโยชน์สาธารณะ จะเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร  

ดังนั้น ข้อยกเว้นนี้จึงเป็นความแตกต่างที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และคปก.ได้ยืนยันตามร่างฯฉบับประชาชน เพราะจะเห็นว่าในข้อยกเว้นดังกล่าวนี้อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและขัดต่อหลักประชาธิปไตย  

 
“สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในร่างฯคปก.มาจากการสรรหา ซึ่งมีขั้นตอน ที่แสดงให้เห็นว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ร่างฯรัฐบาล กำหนดให้มาจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง นอกจากนี้ประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการวินิจฉัย คปก.ระบุว่าต้องมาจากการสรรหาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศขณะที่ร่างฯของรัฐบาลมาจากรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งตรงจุดนี้ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน”
 
ร่างฯรัฐบาลระบุบทลงโทษ – ที่มาเงินทุนไม่ชัดเจน คปก.เห็นต่างให้สำนักงานเป็นนิติบุคคล
 
รศ. วิระดา กล่าวด้วยว่า กรณีบทกำหนดโทษ ในร่างฯคปก.ระบุ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 360,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีการเพิ่มโทษหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ ลูกจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้มีหน้าที่ให้บริการตามวิชาชีพ และผู้อยู่ในความปกครอง ขณะที่บทกำหนดโทษในร่างฯรัฐบาล เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ตามมาตรา 20(1) และ 22 (2) เท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีกองทุนฯ ในร่างฯคปก.กำหนดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ดังนั้นทุนที่จะใช้จ่ายจำเป็นต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ระบุไว้แต่เพียงกรอบกว้างๆตามร่างฯรัฐบาลที่ระบุเพียงเงินสนับสนุนจะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศเท่านั้น
 
“เรื่องที่เกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ไม่สามารถให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เข้าไปจัดการได้เพียงลำพัง ในจุดนี้คปก.เห็นว่า งานนี้ค่อนข้างกว้างและจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ ดังนั้นในแง่ของสำนักงาน จึงควรเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามารับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการ” รศ.วิระดา กล่าว
 
แก้ไขร่างฯปชช.ให้มีผลในทางปฏิบัติ
 
นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษรและกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ  กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศฉบับของรัฐบาลยังมีช่องโหว่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ ข้อยกเว้นให้สามารถเลือกปฏิบัติได้โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ ภาคประชาชนเกิดความกังวลจึงเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...ขึ้นแสดงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายด้านความเสมอภาคฯทั้งฉบับประชาชนและฉบับของคปก. เห็นว่าร่างของภาคประชาชนเป็นร่างที่ดีมาก แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องบางประการ ทั้งที่มีสาเหตุมากจาก ความเปลี่ยนแปลงของสภาพและความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ดังนั้น คณะกรรมการฯ ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงใช้ร่างฯฉบับของประชาชนมาพัฒนาและแก้ไขให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นตามหลักวิชาการและหลักกฎหมาย
 
“ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อแก้ไขของร่างภาคประชาชน ได้แก่ วิธีการเขียนกฎหมายให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งพบว่าร่างภาคประชาชนใช้ถ้อยคำค่อนข้างยาว จึงทำให้เกิดความสลับซับซ้อนในการอธิบาย สาเหตุมากจากวิธีการเขียนกฎหมายซึ่งใช้วิธีการเทียบเคียงวิธีการปฏิบัติตามกฎหมายของอื่นที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายครอบครัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ แต่คนทั่วไปมักกลัวว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกิดการเลียนแบบและความปั่นป่วนในสังคม ซึ่งความเป็นจริงแล้วความแตกต่างระหว่างเพศมีอยู่แล้วในทุกสังคม” นางสาวนัยนา กล่าว
 
 
 
       
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง