เส้นทางการต่อสู้ "คนไทยพลัดถิ่น"

14 มิ.ย. 54
05:57
409
Logo Thai PBS
เส้นทางการต่อสู้ "คนไทยพลัดถิ่น"

ติดตามปัญหาและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนไทยพลัดถิ่น หลังที่ประชุมวุฒิสภาลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแปรญัตติภายใน 7 วัน กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่น ลีลาการเชิดหนังตะลุงและบทพากย์ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาที่สอดแทรกด้วยมุขตลกขำขัน แฝงข้อคิดเตือนใจ เกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น เรียกรอยยิ้มและเสียงปรบมือจากเด็กๆได้เป็นระยะ แม้จะห่างหายจากการเชิดหุ่นหนังตะลุงมานาน แต่เมื่อไหร่ที่ได้มีโอกาสจับหุ่นเชิดแสดง ใบหน้าของชายชราวัย 60 จะเปี่ยมไปด้วยความสุขทุกครั้ง เพราะไม่เพียงได้หวนรำลึกถึงความหลัง หากแต่นี่ยังเป็นการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษที่นำติดตัวมาจากเมืองมะริดเมื่อ 37 ปีให้คงอยู่

“บุญเสริม ประกอบปราณ” เป็น 1 ในคนไทยพลัดถิ่นที่เคยอาศัยในเขตเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี แต่เมื่อไทยเสียดินแดนบริเวณนั้นให้กับประเทศอังกฤษที่ปกครองพม่า เมื่อปี 2411 ก็อพยพกลับมาอยู่ในไทย โดยตั้งรกรากอยู่ที่ด่านสิงขร ปัจจุบัน “บุญเสริม” กับอีกหลายร้อยครอบครัว มีสถานภาพเป็นบุคคลต่างด้าว ถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ปัญหาการไม่มีบัตรประชาชนไทย ทำให้ไม่มีสิทธิตามความเป็นพลเมืองไทยในแง่ของกฏหมาย และต้องอยู่อย่างหลบซ่อนเหมือนแรงงานต่างด้าว ยังความเจ็บปวดที่ฝังอยู่ในใจของชายชราผู้นี้มานานกว่า 50 ปี แต่วันนี้ความกังวลทั้งหมด เริ่มผ่อนคลายลง ทันทีที่ทราบข่าวสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติสัญชาติแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติกับหน่วยงานภาครัฐมานานเกือบ 10 ปี

ส่วนพื้นที่สวน 24 ไร่ ถูกปกคลุมไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด เป็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของครอบครัวประกอบปราณ ซึ่งจากนี้ไปพื้นดินแห่งนี้ จะไม่ใช่เพียงแหล่งทำกินที่ช่วยจุนเจือครอบครัวในแต่ละวันเท่านั้น แต่กลับหมายถึงรากฐานที่มั่นคงในอนาคต หากเค้าได้รับสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ “บุญเสริม” ร่วมเดินเท้ากับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากด่านสิงขรไปสู่หน้ารัฐสภา เพื่อเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ ตั้งแต่ปี 2552 พร้อมกับร่วมเป็นคณะกรรมการสำรวจจำนวนคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ โดย “บุญเสริม” พูดถึงการร่วมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายสัญชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ว่าไม่ได้เป็นเพียงเพื่อเรียกร้องสิทธิสำหรับตนเอง แต่ยังหวังผลถึงคนรุ่นลูกหลานที่จะได้มาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนเช่นคนไทยด้วยกัน

สุจิตรา สร้อยเพชร ไทยพีบีเอส รายงาน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง