แพทย์จุฬาฯ ระบุ ไข้หวัดนก H7N9 ยังไม่มี"วัคซีน"ป้องกัน

สังคม
4 เม.ย. 56
09:50
211
Logo Thai PBS
แพทย์จุฬาฯ ระบุ ไข้หวัดนก H7N9 ยังไม่มี"วัคซีน"ป้องกัน

 ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ  ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายละเอียดของเรื่อง “ไข้หวัดนก H7N9” ว่า เป็นที่น่าตื่นตระหนกกันพอสมควรเมื่อมีข่าวการพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก สายพันธ์ H7N9 ในประเทศจีนและมีผู้เสียชีวิต โดยวันที่ 29 มีนาคม 2013 กรมควบคุมโรคของจีนได้ยืนยันว่ามีการระบาดของไข้หวัดนก H7N9 ในผู้ป่วยทั้งหมด 3 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอายุ 87 ปีและ27 ปีจากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสองรายนี้ได้เสียชีวิตแล้วในวันที่ 4 และ 10 มีนาคม

ส่วนผู้ป่วยอีกรายจากมณฑลอันหุ่ยนั้นมีอาการป่วยรุนแรงซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในช่วงเริ่มต้นผู้ป่วยมีเพียงแค่การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีไข้สูง และไอคล้ายไข้หวัดใหญ่ธรรมดาแต่หลังจาก 5-7 วันทั้งสามรายได้มีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งมีอาการปอดบวมอย่างรุนแรง และหายใจลำบาก  

 
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโรค (WHO) และกรมควบคุมโรคของจีนได้คาดว่าน่าจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วง 19 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม และกำลังสืบถึงต้นต่อของเชื้อไวรัสว่าได้รับเชื้อมาได้อย่างไร มีการสัมผัสกับสัตว์ชนิดใดหรือไม่  ซึ่งได้พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 รายนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ผู้ป่วย 2 ใน 3 ราย มีการสัมผัสกับสัตว์โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วสองรายที่มีอายุ 27 ปีเป็นคนขายเนื้อสัตว์และผู้ป่วยอายุ 87 ปีมีการสัมผัสกับสัตว์ปีกไม่นานก่อนที่จะมีอาการป่วย 
 
ขณะนี้ยังไม่พบอาการป่วยในคนที่เคยมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งสามรายจำนวน 88 คน แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะไม่มีการติดระหว่างคนสู่คนจริงหรือไม่  สำนักข่าวจีนรายงานว่า ก่อนที่ผู้ป่วยอายุ 87 ปีจะป่วยนั้น ผู้ป่วยมีลูกชายสองคนที่มีอาการคล้ายกันโดยทั้งสองมีอาการปอดบวม เหมือนกันแต่มีเพียง 1 รายที่เสียชีวิตจาก ปอดบวมรุนแรงและระบบการหายใจล้มเหลวในปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่กรมสุขภาพของเซี่ยงไฮ้รายงานว่าไม่พบว่าผู้ป่วยทั้งสองรายมีการติดเชื้อไวรัส H7N9 
 
องค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า การติดเชื้อไข้หวัดนกจากสายพันธุ์ H7 ในคนนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่รายที่ป่วยนั้นจะมีการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดก่อนที่จะมีอาการ ตั้งแต่ปี 1996-2009 นั้นมีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7 (H7N2, H7N3 และ H7N7) ในคน จากประเทศ เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, แคนาดา, อเมริกา และอังกฤษ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเยื่อตาอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดเพียงเล็กน่อยเท่านั้น แต่ไวรัสสายพันธุ์ H7N9 นั้น มีเพียงแค่รายงานว่าระบาดในสัตว์ปีกในประเทศ เนเธอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, อเมริกา และไม่เคยพบว่ามีการติดต่อสู่มนุษย์มาก่อน 
 
สำหรับการรักษานั้น  แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่กรมควบคุมโรคจีนได้ชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในครั้งนี้นี้ยังไม่ดื้อต่อยาต้านไวรัส Oseltamivir แต่จะรักษาได้ผลดีมากน้อยเท่าไรจะต้องมีการศึกษาต่อไป จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวัง การศึกษาวิจัยในแนวกว้างและแนวลึกของประเทศไทย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมีส่วนในการตรวจวินิจฉัย รักษาโรค ได้อย่างทันการ สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปยังประเทศจีน ฮ่องกง หรือมาเก๊า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีก และถ้ามีอาการป่วยใดๆเกิดขึ้นควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสทันที   
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง