กทม. เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น ร่วมพัฒนา"รถไฟฟ้าโมโนเรล" สายจุฬา-สีลม-สามย่าน บรรเทาวิกฤตจราจร

สังคม
4 เม.ย. 56
14:02
178
Logo Thai PBS
กทม. เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น ร่วมพัฒนา"รถไฟฟ้าโมโนเรล" สายจุฬา-สีลม-สามย่าน บรรเทาวิกฤตจราจร

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เปิดงาน “สัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายจุฬาฯ – สีลม - สามย่าน”

 โดยการสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการสัมมนา รวม 250 คน ณ ห้องราชเทวี 2 ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี

 
4 แนวเส้นทางให้บริการ
          
สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งหลัก โดยในปี 2552 ได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองในกรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งมีข้อสรุปแนวเส้นทางให้บริการใน 4 ลำดับแรก ประกอบด้วย สายศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ถนนโยธี  สายมหาวิทยาลัยรามคำแหง-ซอยทองหล่อ สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสายจุฬาฯ – สีลม - สามย่าน 
 
โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 3 สายแรก ซึ่งได้รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนว่าควรเร่งดำเนินการ ต่อมาในปี 2553 กรุงเทพมหานครได้ศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติม และนำเสนอโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายจุฬา-สีลม-สามย่าน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอยกเว้นการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเหนือดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2537  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นควรให้จัดทำข้อมูลให้สมบูรณ์ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และทางเดินยกระดับ
         
 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายจุฬาฯ – สีลม – สามย่าน เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดรอง (Monorail & Light Rail) ตามแผนงานกรุงเทพมหานคร ให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และการเชื่อมต่อทางเดินยกระดับจากสถานีเฉลิมเผ่าไปยังสถานีประตูน้ำของรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยพื้นที่ดำเนินการศึกษาครอบคลุมพื้นที่เขตปทุมวัน เขตบางรัก และเขตราชเทวี เนื่องจากเป็นระบบที่เหมาะสมในย่านธุรกิจที่มีพื้นที่จำกัด
 
แนวเส้นทางเบื้องต้น 3 ระยะ 11 สถานี
          
โดยได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบเส้นทางเบื้องต้น โดยมีแนวเส้นทางสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นระบบลอยฟ้า 3 ระยะ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ระยะที่ 1 มีทั้งหมด 6 สถานี เริ่มจากแยกเฉลิมเผ่า (ถ.อังรีดูนังต์) เลี้ยวเข้าสยามสแควร์ ซอย 7 ผ่านสยามสแควร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท ผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวขวาเข้าซอย จุฬา 5 ผ่านตลาดสามย่านใหม่ เลี้ยวขวาเข้าซอยจุฬา 12 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท แล้ววนกลับเส้นทางเดิมที่แยกเฉลิมเผ่า ซึ่งจะเปิดให้บริการ ปี 2559 
 
ระยะที่ 2 เป็นเส้นทางของระยะที่ 1 โดยเพิ่มอีก 3 สถานี บริเวณสามย่าน (จุฬา ซ.5 และจุฬา ซ.12) เพื่อรองรับการเดินทางภายในพื้นที่สามย่าน ที่จะเพิ่มมากขึ้นตามแผนการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาฯ ซึ่งจะเปิดให้บริการ ปี 2561 รวมระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เรียกว่า วงรอบสยาม-สามย่าน ระยะที่ 3 (วงรอบสยาม-จุฬาฯ) แนวเส้นทางจะเหมือนระยะที่ 2  แต่จะเพิ่มเส้นทางจากถนนพญาไท ที่ผ่านโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระรามที่ 4 ผ่านจามจุรีสแควร์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอังรีดูนังต์ ผ่านสภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าสยามสแควร์ ซอย 7 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนน  พญาไทดังเดิม ซึ่งจะมีสถานีเพิ่มอีก 2 สถานี โดยจะเปิดให้บริการ ปี 2563
 
คาดเริ่มดำเนินการปี 2557 และเปิดให้บริการระยะแรกปี 2559
          
หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นในวันนี้ กรุงเทพมหานครจะนำข้อมูลไปประกอบการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ รวมทั้งจัดประชุมกลุ่มย่อย และจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2556 และในเดือน ก.ค.2556 เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2557 และเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2559


ข่าวที่เกี่ยวข้อง