หลายฝ่ายเห็นต่าง ปมแก้รัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

การเมือง
4 เม.ย. 56
14:18
46
Logo Thai PBS
หลายฝ่ายเห็นต่าง ปมแก้รัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

กลุ่มพันธมิตรฯออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญและการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยชี้ว่าการกู้เงิน ถือเป็นความเสียหายของประเทศ ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญสะท้อนถึงเจตนาที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่ยังไม่สรุปที่จะชุมนุมเคลื่อนไหว

ความวุ่นวายในที่ประชุมรัฐสภา หลังการเสนอญัตตินับองค์ประชุม ซ้อนญัตติการเสนอกรอบเวลาแปรญัตติของร่างกฎหมาย เมื่อเวลา 02.00 น. ทำให้รัฐสภาล่ม และปิดประชุมในขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้ประธานรัฐสภาจะใช้อำนาจสั่งให้ดำเนินการ และมีผลให้กระบวนการเดินหน้า แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะกรรมาธิการในสัดส่วนของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ร่วม โดยอ้างว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ชิงไหวชิงพริบและพลิกเกมกันตลอดการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา รวม 3 ฉบับ แม้แต่ช่วงสุดท้ายของการประชุมกลางดึกวานนี้ (3 เม.ย.2556) เกิดเหตุวุ่นวายต่อเนื่อง เมื่อมีการเสนอปิดอภิปราย ทั้งที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยังเหลือเวลาอภิปรายอีก 2 ชั่วโมง และด้วยสาเหตุนี้ก็เกิดการประท้วงและถกเถียงกัน จนเป็นที่มาให้ต้องพักการประชุม เพื่อให้วิป 3 ฝ่ายตกลงกันเอง

แต่นานร่วมชั่วโมงก็ไม่เป็นผล ประธานในที่ประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จึงใช้ดุลพินิจชี้ขาดให้สิ้นสุด และเปิดลงมติรับร่างกฎหมาย โดยร่างแก้ที่มาของส.ว. มีมติ 367 ต่อ 204 เสียง ส่วนร่างแก้มาตรา 190 มีมติ 374 ต่อ 209 เสียง และร่างแก้มาตรา 237 และ 68 มีมติ 374 ต่อ 206 เสียง แต่หลังเสนอชื่อคณะกรรมาธิการในสัดส่วนแต่ละพรรคการเมืองเสร็จ กลังมีการเสนอนับองค์ประชุม ผลสุดท้าย คือ "ล่ม" ไม่ครบองค์ประชุม

เวลา 02.00 น. ประธานในที่ประชุมอ้างอิงสั่งบังคับให้แปรญัตติภายใน 15 วัน ทำให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 คณะ โดยเรียกประชุมนัดแรกเวลา  11.00 น. อีกฝั่งของการประชุม ได้แบ่งสัดส่วนกรรมาธิการได้ลงตัว และวางกรอบการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมาย

โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้มาตรา 68 และมาตรา 237 ขณะที่นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างแก้มาตรา 190 ส่วนนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ มาตรา 111 พร้อมนัดหมายประชุมครั้งต่อไป วันที่ 23 เม.ย.2556

 แต่คณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้าน และชี้ว่าการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้มาตรา 68 และ มาตรา 237 ซึ่งกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ,นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้เดินออกจากห้องประชุม และอ้างอิงว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากพิจารณาจากภาพรวมตลอดการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างการพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ของรัฐสภาเท่านั้น และกรณีปัญหาที่ต้องเผชิญมีหลายประเด็น ทั้งกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยการแก้มาตรา 68 เข้าข่ายลิดรอนสิทธิของประชาชน, กรณีกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสมทบในคำร้องแรก รวมกรณีปัญหาที่ข้อบังคับและกฎหมายระบุให้ การแปรญัตติหรือพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมาย ต้องมีสัดส่วนกรรมาธิการของทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยทั้งหมดถือเป็นกลไกในระบบ และเป็นกรณีปัญหาให้ต้องเผชิญ ไม่นับรวมกลไกนอกระบบ หรือนอกรัฐสภา อย่างกลุ่มพันธมิตรฯ ที่แม้จะออกแถลงการณ์ไม่ชุมนุม แต่สรุปความเห็น คือการคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญ

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง