กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จี้ทบทวน P4P หลังสธ.ทำความแตกแยกหนัก

สังคม
5 เม.ย. 56
11:55
166
Logo Thai PBS
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จี้ทบทวน P4P หลังสธ.ทำความแตกแยกหนัก

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และปรับไปใช้แนวทางการจ่ายเงินตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P) ซึ่งประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างรวบรัด เร่งด่วน โดยยังไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน จนก่อให้เกิดกระแสการวิจารณ์ จากบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง

 นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า แนวทางการจ่ายค่าตอบแทนมีผลต่อประชาชน เพราะพื้นที่ห่างไกลมักจะประสบปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพออยู่แล้ว โรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง มีหมอ 1-2 คน แต่ต้องดูแลประชาชนทั้งอำเภอหลายหมื่นคน หากการจ่ายค่าตอบแทนแบบนับแต้มตามผลงาน หรือพีฟอร์พี ออกมาใช้ ไม่จูงใจให้บุคคลากรอยากจะอยู่ประจำในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยง กระทบต่อการรับบริการของประชาชนแน่นอน               

 
“กลุ่มสนับสนุนแนวทางการใช้นโยบายทางการเงิน เป็นเครื่องมือในการกระจายบุคคลากรเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องพื้นที่ คือเรื่องทุรกันดาร ร่วมกับแนวคิดเรื่องภาระงาน และค่าตอบแทนการอยู่นานเป็นเรื่องสุดท้าย และต้องให้ความสำคัญกับทุกวิชาชีพเท่าๆกัน เนื่องจากการดูแลสุขภาพคนหนึ่งคน ทุกวิชาชีพต่างสำคัญและมีภาระงานในส่วนที่รับผิดชอบต่อชีวิตใกล้เคียงกัน ต้องทำงานเป็นทีม แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คือ กำหนดการจ่ายตามพื้นที่ส่วนหนึ่ง แล้วเพิ่มเติมด้วยการคิดตามภาระงานเป็นเงินส่วนเพิ่ม (Top up) ไม่ใช่ตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป และต้องไม่ให้การกำหนดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกของทีมบุคคลากรทางการแพทย์” สุรีรัตน์ กล่าว
 
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าต้องทวงถามเจตนารมย์ของการนำระบบพีฟอร์พี มาใช้ว่าอยู่ที่ไหนกันเน่ระหว่างต้องการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุข หรือต้องการตัดงบประมาณลง หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็จะเห็นว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งนี้ รีบร้อน เร่งทำ โดยไม่อาศัยหลักวิชาการ ส่อเจตนาทุจริตเชิงนโยบาย กระทบต่องบประมาณของประเทศ โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า P4P ทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจนและประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้จริงหรือไม่
 
 
“การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลายเรื่องดูรีบร้อน รวบรัด เร่งทำ ไม่มีการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาก่อนเลย รวมถึงวิธีการที่จะปรับใช้ วิธีการปฏิบัติในพื้นที่ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ผลการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้ พีฟอร์พีเพียงมาตรการเดียว เป็นผลเสียมากกว่าผลดี การตัดสินใจใดๆจึงต้องอยู่บนข้อมูลทางวิชาการ และทำด้วยความรอบคอบรัดกุม ไม่ใช่ไม่มีแนวทางใดๆที่ชัดเจน ก็ประกาศออกมาอย่างเร่งรีบ โดยไม่ฟังคำทัดทาน” โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าว
 
นอกจากนี้โฆษก กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ยังกล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ใช้วิธีการกำหนดเพดานค่าตอบแทน และจำนวนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลอย่างเช่นที่ไทยกำลังประสบ แต่นโยบายรัฐบาลชุดนี้กลับสนับสนุนการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน  ให้มีการนำเรื่องสุขภาพมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้ และส่งเสริมนโยบายเมดิคัล ฮับ ให้เป็นโครงการที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่ก็เป็นประโยชน์กับเฉพาะกับแพทย์พาณิชย์ และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน  ย่อมส่งผลต่อทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรในพื้นที่ห่างไกลรุนแรงมากขึ้น  ประกอบกับนโยบายพีฟอร์พี ซึ่งน่าจะเป็นตัวเร่งให้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เข้าสู่จุดวิกฤติเร็วขึ้นอีก
 
นางจรรยา แสนสุภา ใช้บริการโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะผู้ใช้บริการ มีความกังวลว่าประชาชนจะไม่ได้รับการบริการ เพราะภาพที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ หลายโรงพยาบาลขึ้นป้ายไม่ยอมรับแนวทาง P4P มีข้อความว่าในอนาคต ประชาชนอาจจะต้องรอนานขึ้น เพราะกระทรวงใช้การคิดแต้ม ทำให้ที่นี่ไม่มีบุคคลากร
 
“จากเดิมบุคคลากรก็น้อยมากอยู่แล้ว เมื่อมีแนวนโยบายแบบนี้ ทำให้เราเองกังวลจริงๆว่าจะไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาลในพื้นที่ พวกเราก็ต้องเดินทางกว่า 100 กิโลเมตร เข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดทั้งที่บางครั้งไม่มีความจำเป็น” จรรยากล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง