จดหมายถึงแม่-ความในใจจากลูกผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Logo Thai PBS
จดหมายถึงแม่-ความในใจจากลูกผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เแม้จะเป็นหนังสือที่ไม่เน้นความรู้หรือเนื้อหามากมาย หากในหนังสือจดหมายถึงแม่นั้น กลับให้ความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยพวกเขายอมรับว่าประสบการณ์การยากที่สุดคือการเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวและสังคม

“เสียชาติเกิด” คำพูดจากผู้เป็นพ่อที่ติดหูมาตลอดจนถึงวันนี้ แม้เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ หาก “สุจินต์ อยู่ปรางค์ทอง” ไม่เคยโกรธพ่อ แต่เสียดายที่ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเอง ที่ไม่อาจใช้ชีวิตแบบลูกผู้ชายได้อย่างที่ทางบ้านซึ่งเป็นครอบครัวคนจีนคาดหวัง

ความในใจที่ไม่กล้าพูดปรากฏชัดเป็นลายลักษณ์อักษร แม้พ่อผู้จากไปไม่เคยได้รับรู้ หากการเปิดเผยความรู้สึกในฐานะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หวังให้ประสบการณ์ได้ถ่ายทอดไปยังผู้ปกครองคนอื่น ช่วยเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจ

ในขณะที่ปทุมรัตน์นักเขียนจำเป็นอีกคน รู้สึกโชคดีที่ครอบครัวยอมรับทุกสิ่งที่เธอเป็น โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากกรอบสังคม สะท้อนถึงพลังครอบครัวที่ความเข้าใจและรับฟัง นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งหมดคือเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ “จดหมายถึงแม่”

บนสนทนาของลูกสาวที่สารภาพว่าเป็นหญิงรักหญิงกับแม่ผ่านสื่อออนไลน์ ในตอน แม่รักเราเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ใช่งานเขียนที่มีรูปแบบตายตัว แต่กลับชวนให้ผู้อ่านเข้าถึงความรู้สึกผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเรื่องราวในชีวิตจริงเหล่านี้คือแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้มูลนิธิอัญจารีอยากสร้างความเข้าใจกับสังคม เพราะหลายครั้ง ตัวอย่างการปฎิเสธเพศสภาพของคนรักเพศเดียวกันจากสมาชิกในครอบครัว ได้กลายเป็นความรุนแรงที่สร้างความสะเทือนใจ การจัดทำหนังสือ “จดหมายถึงแม่” เพื่อคนกลุ่มนี้ จึงได้บอกเล่าประสบการณ์ทั้งสุขและทุกข์เมื่อต้องเผยตัวตนและความคิดกับครอบครัว

แม้ปัจจุบันสื่อกระแสหลัก จะเปิดกว้างและแสดงภาพลักษณ์ของผู้มีความหลาหลายทางเพศในด้านบวกมากกว่าในอดีต หากสำหรับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิกลับพบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจมากที่สุดของคนกลุ่มนี้ คือการที่ครอบครัวไม่ยอมรับ จดหมายถึงแม่ เล่มนี้จึงหวังเป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงผู้คนเพื่อให้อยู่ร่วมกับความหลากหลายอย่างเข้าใจ

โดยในหนังสือจดหมายถึงแม่เล่มนี้ ได้รวมบรวมจดหมายจากผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ 40 ฉบับ แม้จะหลากหลายที่มา โดยผู้เขียนอายุมากที่สุดกว่า 50 ปี และน้อยที่สุดเพียง 19 ปี แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการยอมรับจากครอบครัว ที่ถือเป็นกำลังใจสำคัญในการดำเนินชีวิต



ข่าวที่เกี่ยวข้อง