"เกาะติด" ท่าที "รัฐบาล-เครือข่ายแรงงาน" ยกระดับประกันสังคม

6 เม.ย. 56
14:35
50
Logo Thai PBS
"เกาะติด" ท่าที "รัฐบาล-เครือข่ายแรงงาน" ยกระดับประกันสังคม

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะไม่รับหลักการวาระ 1 ของร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน แต่เครือข่ายแรงงาน ยังคงยืนยันในหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อปฎิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ขณะที่ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แม้จะพยายามเคลื่อนไหวผลักดัน แต่ถ้าฝ่ายรัฐไม่เห็นด้วยก็เปล่าประโยชน์ จึงเสนอให้มีตัวแทนผู้ประกันตนร่วมเป็นกรรมการประกันสังคม

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่รับหลักการในวาระ 1 ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่นางวิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเสนอชื่อจำนวน 14,264 คน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ด้วยคะแนน 80 ต่อ 334 เสียง ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสและละเมิดสิทธิของประชาชนในการเสนอกฎหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 163 ระบุไว้ และเท่ากับเป็นการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบูรณาการสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งตรงข้ามกับเหตุผลของรัฐบาล ที่แสดงออกว่าต้องการให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานราชการ ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน

แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ยังเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลและรัฐสภา ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย และยังเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมควรเป็นอิสระในรูปแบบของนิติบุคคล แยกออกจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

   

และถึงแม้เครือข่ายแรงงานจะพยายามเคลื่อนไหวคัดค้านมติไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน แต่ดูเหมือนว่าท่าทีของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล กลับไม่สนใจมากนัก ซึ่งผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า แม้จะมีความพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายต่อไป แต่หากรัฐ ไม่เห็นด้วย ก็เปล่าประโยชน์ จึงเสนอว่า ต้องผลักดันให้สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยรายละเอียดการประชุมต่อสาธารณชน เหมือนเช่นกับ สปสช. เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้มีตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และเร็วกว่าการผลักดันให้มีกฏหมายประกันสังคม

แต่เครือข่ายแรงงานยังยืนยันเดินหน้าแสดงจุดยืนในการหลักการเดิมของร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน เพราะเชื่อว่า จะสามารถปฎิรูปประกันสังคมได้ โดยรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติไม่รับร่างกฎหมายฯ ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเมืองทางการเมืองหรือไม่ ควบคู่กับการตรวจสอบการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม

ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชน เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 โดยคาดหวังว่าร่างกฎหมายที่เกิดจากการระดมความเห็นของนักกฎหมายและเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่แล้วความคาดหวังก็พังทลายลงเมื่อที่ประชุมสภาฯไม่รับหลักการในวาระ 1


ข่าวที่เกี่ยวข้อง