เรียนรู้ "ปอยส่างลอง" วิถี-ประเพณีสำคัญของชาวไทใหญ่

Logo Thai PBS
 เรียนรู้ "ปอยส่างลอง" วิถี-ประเพณีสำคัญของชาวไทใหญ่

ห่างบ้านต่างถิ่นมาทำงานในเมืองใหญ่ แต่ก็ไม่ทิ้งประเพณีตามวิถีศรัทธา อย่างงานปอยส่างลองหรือบวชลูกแก้ว ที่สำคัญกับชาวไทใหญ่ ถือว่าต้องทำให้ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ครั้งนี้จัดงานในวัดศูนย์กลางชุมชนที่อาศัยในจังหวัดสมุทรสาคร ในนามชมรมชาวไตมหาชัย สะท้อนแบบแผนดีงามเป็นเอกลักษณ์

เป็นดั่งแก้วตาดวงใจและสูงส่งเทียบได้กับเทพบุตรตัวน้อยเมื่อเป็นส่างลอง ยามได้แต่งหน้าให้กับลูกชายวัย 12 ขวบ ในงานปอยส่างลองหรือบวชลูกแก้วด้วยตัวเอง ก็นำความปลาบปลื้มมาสู่นวล ปัญญา รวมถึงญาติพี่น้องที่มาร่วมบุญ ความเชื่อว่า จะได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ หากได้สละทรัพย์จัดงานบรรพชาสามเณรผู้บริสุทธิ์กายใจ ทำให้ชาวไทใหญ่ยังสืบทอดประเพณีเก่าแก่นี้ที่วัดเทพนรรัตน์ จังหวัดสมุทรสาคร แสดงศรัทธาต่อพระศาสนา แม้ส่วนใหญ่จะมาทำงานต่างถิ่นนานแล้ว

"นวล ปัญญา" ชาวไทใหญ่ บอกว่า "ย้ายมาอยู่เกือบ 20 ปีแล้ว และลูกก็เกิดที่นี่ แต่เขาเรียนหนังสือไทย เหมือนคนไทยแล้ว ซึ่งการเตรียมงานเสียเงิน 70,000-80,000 บาท เพราะอยากให้ลูกชายได้บวช เพราะมีคนเดียว อยากได้บุญเยอะๆ"

ด้านจ๋อมเคือ  ธีรพล ปัญญา เยาวชนชาวไทใหญ่ เล่าวว่า ต้องฝึกฝนเตรียมตัวให้อยู่วัดได้ ซึ่งแม่บอกว่าให้ตั้งใจ อยากให้พ่อแม่ได้บุญ ตั้งใจจะบวชนานเหมือนกัน เพราะเราไม่ใช่คนไทยด้วย

   

ส่างลองหรือลูกแก้ว สำหรับชาวไทใหญ่นั้น เปรียบเหมือนผู้สูงส่งที่ต้องดูแลอย่างดี ซึ่งแต่ละคนจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลทั้งเรื่องของการแต่งหน้าแต่งตัว หรือในเวลาที่จะไปไหนมาไหน ก็ต้องอุ้มต้องหอบ ตามข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้เท้าถูกพื้น ซึ่งชาวไทใหญ่ที่สมุทรสาครปฏิบัติตามแบบแผนดั้งเดิมมา 3 ปีติดต่อกันแล้ว

ขบวนแห่ส่างลองเล็กๆ ที่พยายามคงรูปแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งธรรมเนียมแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ ย้อนวันที่เจ้าชายสิทธัตถะ ขี่ม้าวนรอบเมืองก่อนเสด็จออกผนวช หรือใส่แว่นดำ ที่มีนัยถึงค่ำคืนไร้แสงสว่างก่อนเข้าสู่เพศสมณะ การแต่งกายสวยงามของส่างลอง ตลอดจนเครื่องไทยธรรม และคณะดนตรีกลองก้นยาวเอกลักษณ์ไทใหญ่ให้จังหวะคึกครื้น ล้วนแทนความตั้งใจของพี่น้องไทใหญ่ ที่มั่นในวัฒนธรรมดีงามของตน

"โหย่ง จ่ามทอน" ประธานจัดงานปอยส่างลอง บอกว่า ญาติพี่น้องบางทีเขาขึ้นไปจัดงานที่บ้านไม่ได้ก็มาจัดงานร่วมกันที่นี่ สนุกสนานดี ส่วน "อ่องส่า จองต๊ะ" ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทใหญ่ กล่าวว่า ถือเป็นหนึ่งใน 4 งานใหญ่ของผู้ชายไทใหญ่ต้องจัด อย่างน้อยพ่อแม่ต้องรวบรวมปัจจัยมาให้พร้อม เราก็คงรูปแบบแบบที่เราทำกันมาเหมือนอยู่บ้าน

พื้นที่มหาชัย และอ.เมืองสมุทรสาคร มีแรงงานชาวไทใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกับชาวพม่า มอญ และไทย อย่างหลากหลาย แม้บวชลูกแก้วจะเป็นประเพณีของไทใหญ่ แต่ศรัทธาในศาสนา ทำให้ทุกกลุ่มคนมาร่วมงานบุญได้อันหมายถึงการมีส่วนร่วมสืบทอดอายุพระศาสนา


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง