"กรณ์"ตั้งคำถามรัฐบาล โครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เชื่อมโยง"จีน-มาเลเซีย"

การเมือง
7 เม.ย. 56
08:44
276
Logo Thai PBS
"กรณ์"ตั้งคำถามรัฐบาล โครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เชื่อมโยง"จีน-มาเลเซีย"

"กรณ์" โพสต์เฟซบุ๊คตั้งคำถามถึงการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลในโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมเส้นทางเชื่อมโยง"จีน-มาเลเซีย"

วานนี้ (6 เม.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยแพร่ข้อความผ่านสื่งสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค "Korn Chatikavanij" ตั้งคำถามถึงการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลในโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมเส้นทางที่เชื่อมโยงจีน-มาเลเซีย พร้อมชี้แจงถึงวิธีการของพรรคประชาธิปัตย์ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วย  ดังนี้

เรื่องของรถไฟความเร็วสูง - แล้วถ้าเป็นประชาธิปัตย์เราจะทำอย่างไร?

รมว.คมนาคม คุณชัชชาติถูกแฉกลางสภาฯว่า 'โกหก' ที่ระบุในเอกสารประกอบการพิจารณาว่ารถไฟฟ้าจะวิ่งไปถึงหนองคาย และทางใต้ไปถึงปาดังเบซาร์

ก็อาจจะว่ากันแรงไปหน่อย แต่ท่านพยายามแก้ตัวในสภาฯ แต่ก็ไปไม่รอด สุดท้ายทางกระทรวงจึงออกมายอมรับว่ามีงบเงินกู้จัดไว้ให้ไปแค่โคราชและหัวหิน ลึก ๆ คุณชัชชาติพลาดเพราะไปยอมทุ่มเงินกับเส้นทางไปเชียงใหม่ตามความต้องการของ 'นายใหญ่-นายหญิง' ทั้ง ๆ ที่คุณชัชชาติก็คงจะรู้ว่าไม่ได้เป็นเส้นทางที่คุ้มค่าที่สุด จากนั้นพอ ส.ส.อีสานกลัวเสียคะแนนก็เลยยอมมาแก้เอกสาร จนถูกจับได้

ถ้าใครอยู่ในวงการหุ้น จะรู้นะครับว่าบริษัทไหนทำเอกสารประกอบการขอเงินเพิ่มทุนอย่างนี้ ถึงกับผิดอาญาเลยทีเดียว โทษสูงสุดติดคุก 2 ปี และนั่นเขาขอเงินกันเพียงหลักร้อยล้านพันล้าน

แต่นี่จะเอาเงิน 2 ล้านล้าน แต่เอกสารที่อ้างว่าครบถ้วนเรียบร้อยนั้น จริงแล้วยังขาดความน่าเชื่อถือในอีกหลายจุดสำคัญ และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ยอมยืนยันให้เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย

วันก่อนผมนั่งคุยกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ท่านเล่าให้ผมฟังว่าตอนที่ท่านไปคุยกับจีนเรื่องนี้ ผู้ที่จีนให้มาคุยด้วยก็คือผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน ขณะนั้นทั้ง 2 ท่านยังเป็นรองนายกฯอยู่ และท่านทั้งสองได้วาดแผนว่าจะต้องมีการเชื่อมโยงจีนเข้ามากับอาเซี่ยนด้วยเส้นทาง คุนหมิง-สิงคโปร์ ที่ผ่านเมืองไทยจากหนองคายไปสู่ปาดังเบซาร์ และที่สำคัญข้อตกลงเบื้องต้นกับจีนคือการร่วมลงทุนที่จะทำให้ภาระการลงทุนของไทยเราลดลงอย่างมาก

แนวคิดเราคือ
1. เริ่มลงทุนด้วยเส้นแรกสาย 'เอเซียใต้' คุนหมิง-ลาว-ไทย-มาเลย์ฯ-สิงคโปร์
2. เราใช้พื้นที่ทางรางเป็นส่วนทุนของเรา
3. จีนลงเงินค่าวางราง ซึ่งใช้ส่วนนี้เป็นทุนของเขา
4. ทั้งหมดจดทะเบียนเป็นบริษัทร่วมทุน ไทยถืออย่างน้อย 51 % มีสัมปทานบริหารเส้นทางรางประมาณ 50 ปี
5. บริษัทนี้กู้เงินเองเพื่อมาลงทุนในตัวรถไฟและการบริหารจัดการ เท่ากับประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีต้องใส่เงินน้อยมาก
6. ใครคนอื่นอยากวิ่งรถไฟบนรางนี้ก็ได้ แต่ต้องเสียค่าเช่ารางให้บริษัทร่วมทุนในช่วงสัมปทาน
7. ส่วนเงินที่ไทยต้องใช้ จะมาจากงบประมาณ
8. ทุกขั้นตอนผ่านรัฐสภาฯ และได้พิจารณาตามมาตรา 190 แล้วด้วย

นี่คือการ 'แปลงสินทรัพย์เป็นทุน' ที่รัฐมนตรีชัชชาติตอบในสภาฯว่า 'ยากเกินไป' และทั้ง'ผู้คิดแทนพรรค'และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคนก็กลับลำคำสัญญาว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะ 'ไม่กู้' แถมดันไปกู้นอกระบบงบประมาณอีกต่างหาก และไม่ยอมยืนยันว่าจะใช้ระเบียบการพัสดุในการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องเดียวกัน แต่วิธีคิด วิธีทำต่างกันชัดเจนผลต่อประเทศ ต่อประชาชนก็ต่างกันด้วยครับ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง