เปิดอุปสรรคกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

การเมือง
7 เม.ย. 56
14:11
119
Logo Thai PBS
เปิดอุปสรรคกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้ง 3 ฉบับ ใน 3 คณะ แต่กลับพบปัญหาทั้งกรณีกรรมาธิการไม่มีสัดส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่า องค์ประชุมไม่ครบ รวมถึงการแปรญัตติเพียง 15 วัน อาจขัดรัฐธรรมนูญได้ โดยเตรียมยื่นฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นคดีที่ 2 ต่อจากคดีแรกที่ศาลฯได้รับวินิจฉัยตีความมาตรา 68

รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นการดำเนินการตามคำวินิจฉัย การยื่นตีความอีกครั้งอาจส่งผลต่อคำวินิจฉัยที่จะออกมาขัดแย้งกันเอง ซึ่งอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือต่อองค์กรในอนาคตได้

หลังรัฐสภาลงมติเห็นชอบและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ทั้ง 3 ฉบับ ใน 3 คณะ กลับพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่ง ส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ และเตรียมยื่นศาล รธน.วินิจฉัยกระบวรการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

<"">

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการภายใต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการรับพิจารณาในประเด็นนี้อีก อาจส่งผลต่อการตั้งคำถามจากสังคมถึงแนวทางและผลคำวินิจฉัยที่จะออกมานั้นจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยที่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของศาลในอนาคตด้วย

รศ.ยุทธพร ยังกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญในรายมาตรา ถือว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด และเป็นไปตามที่คำวินิจฉัย แต่เมื่อตั้งคำถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งในปัจจุบันนี้ และสมัยอดีตในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ล้วนแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ว่าเป็นการขับเคลื่อนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง ยกเว้นการแก้ไขทั้งฉบับที่ผ่านกระบวนการทางวาระสังคม ทั้งการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในทุกประเด็น

รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกจับตาถึงที่มาไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการขับเคลื่อนแก้ไขครั้งแรกในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึง 6 เรื่อง แต่ท้ายสุดผ่านการแก้ไขเพียง 2 เรื่อง คือ มาตรา 190 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ส. ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการแก้ครั้งแรก และในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แต่ยังต้องรอผลการวินิจฉัยทั้งเรื่องส่งเข้าไปใหม่ และเรื่องที่ ส.ว.กลุ่ม 40 ยื่นให้ขอวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง