หนังฮ่องกงยังต้องพึ่งพาตลาดจีน

Logo Thai PBS
หนังฮ่องกงยังต้องพึ่งพาตลาดจีน

การเติบโตของอุตสาหกรรมหนังจีน มีส่วนช่วยพลิกฟื้นวงการหนังฮ่องกงที่ซบเซามานาน แต่สิ่งที่แลกมาคือหนังฮ่องกงอาจสูญเสียเอกลักษณ์ที่แฟนหนังคุ้ยเคย จากข้อจำกัดด้านเนื้อหาที่ควบคุมโดยกองเซ็นเซอร์ของจีน

นอกจากเป็นผลงานเปิดตัวในฐานะนักแสดงของ เจ็ทลี แล้ว เสี่ยวลิ้มยี่ ภาพยนตร์กังฟูปี 1982 ยังเป็นหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่ถ่ายทำในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเปิดมิติการร่วมงานของทั้ง 2 ชาติ ในสมัยที่จีนยังคงเป็นมือใหม่ในวงการภาพยนตร์ จนวันนี้จีนกลายเป็นตลาดภาพยนตร์ชั้นนำของโลก วงการหนังฮ่องกงจึงเปลี่ยนจากผู้ให้เป็นผู้รับในการยึดเอาเมืองจีนในฐานการผลิตภาพยนตร์ในวันนี้

30 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำวงการภาพยนตร์ของเอเชีย ผลงานหลายเรื่องได้รับความนิยม โดยเฉพาะในเมืองจีนที่แม้ภาษาจะแตกต่างกัน เช่น a chinese odyssey หนังไซอิ๋วของ โจวซิงฉือ เมื่อปี 1995 ที่แม้จะพูดภาษากวางตุ้ง แต่เนื้อหาสนุกสนานที่ชาวจีนคุ้นเคย ทำให้ผลงานได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้ภาษาจีนกลางเช่นกัน

แต่หลายปีมานี้วงการภาพยนต์ฮ่องกงเข้าสู่ยุคถดถอย จากที่เคยผลิตหนังปีละ 200 เรื่องวันนี้เหลือเพียงปีละ 50 เรื่อง ผู้สร้างฮ่องกงจึงเบนเข็มจากการสร้างหนังให้คนในชาติที่มีประชากรเพียง 7 ล้านคนไปสู่ตลาดที่มีแฟนหนังกว่า 1,000 ล้านคนเป็นหลัก โดยเกือบครึ่งของหนังที่ร่วมเทศกาลภาพยนตร์ฮ่องกงปีนี้ล้วนเป็นหนังที่ร่วมสร้างกับผู้ผลิตจีนทั้งสิ้น

กระแสที่นิยมตอนนี้คือการสร้างภาคต่อของหนังจีนที่เคยประสบความสำเร็จในฮ่องกง ทั้ง Painted Skin ภาค 2 ที่ทำเงินในจีนมากกว่าเวอร์ชั่นฮ่องกงเกือบ 3 เท่า เช่นเดียวกับ Lost in Thailand หนังจีนทำเงินอันดับ 1 ก็สร้างต่อจาก Lost on Journey หนังของผู้สร้างฮ่องกงเช่นกัน

แต่สิ่งที่แลกมาคือข้อจำกัดด้านเนื้อหา และอิสรภาพทางความคิด นอกจากหนังร่วมทุนกับจีนจะต้องมีนักแสดงนำ1 ใน 3 เป็นดาราจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ยังต้องถูกตรวจสอบโดยกองเซ็นเซอร์ของจีน เช่น ขุนศึกตระกูลหยาง เวอร์ชั่นใหม่ของ รอนนี หยู่ ที่ออกฉายในจีนช่วงต้นเดือนนี้ ก็ถูกเตือนจากกองเซ็นเซอร์จีนไม่ให้สร้างออกมารุนแรงเหมือนกับหนังฮ่องกงทั่วไป

แต่ไม่ใช่ผู้สร้างฮ่องกงทุกรายจะยอมตามกระแสดังกล่าว โดยเฉพาะ ผังโฮเฉียง ผู้กำกับเรื่อง Vulgaria หนังตลกที่เสนอภาพชาวจีนแผ่นดินใหญ่เป็นลูกไล่ชาวฮ่องกง ที่กลายเป็นหนังกวางตุ้งทำเงินสูงสุดในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว แม้จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ยอมรับความจริงที่ว่าคนแผ่นดินใหญ่มีอำนาจทางการเงินเหนือชาวฮ่องกง แต่ผู้กำกับก็ยืนยันว่าเป็นหนังที่แสดงออกซึ่งอิสระทางความคิดที่หาไม่ได้จากผู้กำกับที่ไปหากินในแผ่นดินใหญ่

จางหวานฉิง ผู้กำกับฮ่องกงที่เคยร่วมงานกับทีมงานจีนจากเรื่อง 3 พี่น้องตระกูลซ่ง ยอมรับว่าอดีตทีมงานจีนเป็นแค่ทีมงานระดับล่างเมื่อเทียบกับทีมงานฮ่องกงที่เชี่ยวชาญมากกว่า แต่หลายปีแห่งการเรียนรู้ วันนี้ จีนมีความพร้อมในทุกด้าน และกลายเป็นผู้นำในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมหนังจีนที่เคยซบเซามาหลายปี แต่เธอยังเชื่อว่าผู้กำกับชั้นนำของฮ่องกง เช่น ฉีเคอะ, จอห์นนี ตู้, ปีเตอร์ ชาน หรือ แอนดรูว์ เลา ที่ประสบความสำเร็จในจีน และต่างประเทศ จะยังคงรักษาแนวทางการสร้างหนังฮ่องกงอันเป็นเอกลักษณ์ต่อไป
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง