สำรวจผู้บริโภคมาเลย์-สิงคโปร์ รายได้สูง เงินสะพัด ให้ความสำคัญกับ "คุณภาพ-แบรนด์สินค้า"

เศรษฐกิจ
9 เม.ย. 56
06:18
2,044
Logo Thai PBS
สำรวจผู้บริโภคมาเลย์-สิงคโปร์ รายได้สูง เงินสะพัด ให้ความสำคัญกับ "คุณภาพ-แบรนด์สินค้า"

ส่วน“เขมร-ลาว” กลุ่มเศรษฐีแสวงหาไลฟ์สไตล์ชีวิต กลุ่มเกษตรกร-ลูกจ้างซื้อน้อย เฉพาะยังชีพ แต่ส่วนใหญ่โซเชียลมีเดีย - ไอทีมีผลดีต่อการตัดสินใจซื้อ สนองตอบความอยากรู้อยากเห็น

 นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค ของประเทศในอาเซียน 4 ชาติ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชาและลาวว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานและแหล่งเรียนรู้ ประกอบการตัดสินใจขยายการค้าการลงทุน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการใช้วัตถุดิบ แรงงานและเทคโนโลยี จัดกลุ่มคลัสเตอร์ให้มีมาตรฐานสากล ก่อนการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปลายปี 2558 

ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวมาเลเซียนั้น ประชากรในชนบทจำนวนมากนิยมเดินทางมาหางานทำในเมืองใหญ่ โดยประชากรกลุ่มนี้นิยมนำรายได้มาใช้จ่ายในการทานอาหารนอกบ้าน การไปดูหนัง ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนตัว รวมถึงซื้อสินค้าแบรนด์เนม เพื่อแสดงสถานะทางสังคม ผู้บริโภครุ่นใหม่ของมาเลเซีย จะเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษา อายุน้อยราว 20-39 ปี มีรายได้สูง  มีความกล้าในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อความสะดวกสบายและความบันเทิง และให้ความสำคัญกับคุณภาพและแบรนด์ของสินค้าเป็นอย่างมาก 
    
 สำหรับช่องทางการสื่อสาร ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมสื่อสารผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์  เป็นต้น ทำให้เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ถึงแม้ว่าอินเตอร์เน็ตตามเมืองเล็กๆ ในมาเลเซียยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก แต่เทคโนโลยี 3G ช่วยให้ผู้บริโภคชาวมาเลเซียส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งส่งผลต่อทั้งความต้องการสินค้าและอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งบทบาทของนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ จะเดินทางมาเที่ยวซ้ำ จึงมีผลต่อแนวโน้มบริโภคสินค้าซ้ำ

ขณะที่ชาวสิงคโปร์ทั้งในวัยทำงาน และวัยเกษียณอายุมีแนวโน้มที่จะย้ายมาพำนักอาศัยอยู่มาเลเซียมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะทางของประชากรผู้สูงอายุหลากหลายขึ้นด้วย 

 
แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ ซึ่งมีรายได้ของประชากรสูงมากประเทศหนึ่งในอาเซียน นิยมสินค้าแบรนด์เนม(หรูหรา) มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยสูง และนิยมสินค้าที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของตนเอง โดยสินค้าแบรนด์เนมของสตรี ได้แก่ สินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ในขณะที่บุรุษจะนิยมสินค้านาฬิกา โดยการค้าในระบบออนไลน์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต โดยเฉพาะสินค้ารุ่น Limited Edition ที่ไม่มีจำหน่ายในสิงคโปร์ 
 
“ชาวสิงคโปร์มีวิถีชีวิตที่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาทำกิจกรรมส่วนตัวอื่นๆ จึงนิยมความสะดวกสบาย และรวดเร็ว นิยมซื้อสินค้าที่ซุปเปอร์มาร์เกตมากขึ้น อาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ยังให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ นิยมเล่นกีฬา เพื่อการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนและเพื่อเข้าสังคม ดังนั้นกีฬาที่เป็นที่นิยมในสิงคโปร์ จึงเป็นกีฬาที่เล่นกันหลายคน และอุปกรณ์กีฬาสามารถพกพาได้สะดวก”นางศรีรัตน์ กล่าวและว่า สิงคโปร์ไม่ได้มีระบบสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบ ชาวสิงคโปร์ จึงต้องเก็บออมเพื่อใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณเอง ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์นิยมที่จะทำงาน แม้ในวัยหลังเกษียณแล้ว ขณะที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมและการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ นมผงสูตรพิเศษ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ของเล่นและอุปกรณ์เสริมทักษะ 
 
ส่วนกัมพูชา ประชากร 13 ล้านคน โดยกลุ่มผู้มีกำลังการซื้อสูงมีเพียง 5% เป็นนักธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแอลกอฮอล์ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และยานยนต์ เป็นต้น รวมถึงนักธุรกิจที่มีรายได้จากการซื้อขายที่ดินและจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์  เจ้าของบ่อนคาสิโน และนักการเมืองและข้าราชการระดับบริหาร ส่วน 85% เป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อต่ำ ซึ่งเป็นเกษตรกรรมและลูกจ้างในโรงงาน
 
ผู้มีกำลังซื้อสูงจะนิยมสินค้าดีและแบรนด์เนม ไม่สนใจเรื่องราคา ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางจะตัดสินใจด้วยคุณภาพสินค้าเพิ่มด้วย โดยกลุ่มกำลังซื้อน้อยจะซื้อสินค้าตามความจำเป็น กระแสสังคม และราคาเป็นหลัก ซึ่งสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีอิทธิพล รวมถึงการบอกแบบปากต่อปาก วิธีการขายเงินผ่อน จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากคนกัมพูชาไม่มีเงินเดือนประจำ ชาวกัมพูชานิยมซื้อสินค้าไทย เนื่องจากมีคุณภาพดี และได้อิทธิพลจากโฆษณาผ่านทีวีของไทย ชาวกัมพูชานิยมแสดงสถานภาพทางสังคมด้วยอัญมณีและเครื่องประดับ
 
ผู้บริโภคชาวลาว ก็ได้รับอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์ของไทย ความใกล้เคียงกันทางภาษาและวัฒนธรรม  รสนิยมในเรื่องของรสชาติ และบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่นิยมในตลาดลาว แม้กระแสแฟชั่นสมัยใหม่ เข้ามามีอิทธิพลต่อสำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ คือตัวผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย

ขณะที่ด้านราคาสินค้ากลับมีอิทธิพลน้อยที่สุด   ชาวลาวนิยมจับจ่ายใช้สอยในห้างค้าปลีกสมัยใหม่  ชอบการจัดงานเลี้ยง งานรื่นเริง  การใช้จ่ายเงินของครัวเรือนในด้านอาหารมีสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด(3,400 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว) ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจขยายตัว เพื่อรองรับผู้บริโภคชาวลาว และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้บริโภคชาวลาวมีพฤติกรรมซื้อจำนวนน้อยแต่บ่อยกว่าผู้บริโภคไทย และไม่ชอบเป็นหนี้

 เทคโนโลยีสื่อสารกับชาวลาว การใช้จ่ายครัวเรือนต่อการขนส่งและสื่อสารของผู้บริโภคลาวคิดเป็นสัดส่วน20% สูงกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วน 17%  ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ 3G ของลาวที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด ทำให้ร้านขายโทรศัพท์ ร้านซ่อมและจำหน่ายอุปกรณ์ได้รับอานิสงส์กับการขยายตัวของตลาด เป็นโอกาสในการพัฒนาคอนเทนท์ หรือ Application ต่างๆ บนมือถือที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ชาวลาว ที่ปรับเปลี่ยนสู่สังคมเมืองมากขึ้น 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง