แอมเนสตี้ฯ สรุปสถานการณ์"ประหารชีวิต" ชี้ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังใช้มีโทษตัดสินถึงตาย

อาชญากรรม
10 เม.ย. 56
03:58
94
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ฯ สรุปสถานการณ์"ประหารชีวิต" ชี้ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังใช้มีโทษตัดสินถึงตาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2555 พบไทยเป็นหนึ่งใน 58 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

 ในรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2555” (Death Sentences and Executions in 2012) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศหรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต

 เมื่อ 35 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทรรศนะคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้
 
 ในปี 2555 ได้เกิดความถดถอยเช่นกัน กล่าวคือมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในประเทศแกมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของการประหารชีวิตตามการรายงานข่าวในอิรัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง 
 
สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ[1]  ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
 
 สำหรับประเทศไทยในปี 2555 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปี 2555 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่กว่า 650 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามเป็นปีที่ 3 ที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย
 
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 อย่างไรก็ตามทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และแม้ว่ารัฐไทยได้แสดงเจตน์จำนงในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลับมีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลด้วย
            ในปี 2555 ประเทศไทยได้ “งดออกเสียง” เป็นปีที่ 2 ต่อมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ “คัดค้าน” เมื่อปี 2550 และ 2551 การประชุมครั้งต่อไปในปี 2557 เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ       “เห็นชอบ” รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ
 
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน ประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR” ปริญญากล่าว
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง