เปิดข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงรอบปราสาทพระวิหาร ก่อนไทย-กัมพูชาแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก

การเมือง
10 เม.ย. 56
14:20
97
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงรอบปราสาทพระวิหาร ก่อนไทย-กัมพูชาแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก

ในวันที่ 15 - 19 เม.ย.นี้ ตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาและไทยจะแถลงด้วยวาจากับองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อคำร้องขอตีความคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 ในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งคำร้องให้ตีความคำพิพากษาของกัมพูชา เพื่อกำหนดพื้นที่รอบตัวปราสาทใหม่ นักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยเห็นว่า ไม่ใช่การเสนอขอตีความ แต่เป็นการรื้อฟื้นคดีใหม่

โดยในคำร้องขอตีความของรัฐบาลกัมพูชาต่อคำตัดสินของศาลโลกได้ระบุถึงพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาท หรือที่เรียกว่า "Vicinity" ที่ฝ่ายไทยต้องปรับกำลังออกจากตัวปราสาทตามคำสั่งศาลคือ พื้นที่ที่กำหนดไว้ในแผนที่ฝรั่งเศส อัตราส่วน 1:200,000 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา ซึ่งนักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยเห็นว่า พื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 ไม่เคยถูกฝ่ายกัมพูชาทักท้วงตลอดช่วงก่อนหน้าที่กัมพูชา จะเสนอให้ตีความคำตัดสินเมื่อเดือนเมษายน ปี 2554 ทั้งนี้ ในคำพิพากษาในปี 2505 นอกจากระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชาแล้ว ยังมีคำสั่งให้ไทยคืนวัตถุโบราณ และให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ใกล้เคียงหรือ "Vicinity" รอบตัวปราสาท โดยไม่กำหนดรายละเอียดของพื้นที่ใกล้เคียงที่ต้องปรับกำลังออก 

 
<"">
 
ขณะที่เกือบ 4 สัปดาห์หลังศาลมีคำตัดสิน ครม.มีมติกำหนดพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาทที่ต้องปรับกำลังออกให้มีระยะห่าง 100 เมตร จากทางตะวันตกของตัวปราสาท และทางทิศเหนือให้ห่างจากบันไดนาค 20 เมตร พร้อมสร้างลวดหนามเพื่อบอกขอบเขตพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเขตกัมพูชา
 
สำหรับคำร้องให้ตีความคำพิพากษาของกัมพูชา เพื่อกำหนดพื้นที่รอบตัวปราสาทใหม่นั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างศ.สมปอง สุจริตกุล อดีตผู้ประสานงานทนายความในคดีปราสาทพระวิหาร 2505 และรศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ไม่ใช่การเสนอขอตีความ แต่เป็นการรื้อฟื้นคดีใหม่ โดยหลังขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารในปี 2551 กัมพูชาขอตีความคำพิพากษาศาล เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ให้ศาลกำหนดเส้นเขตแดนรอบปราสาท ตามที่ระบุไว้ในแผนที่ฝรั่งเศส อัตราส่วน 1:200,000 หวังครอบครองพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาท เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่หลังการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
 
<"">
ในคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 ศาลยอมรับมีปัญหาในเรื่องความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในแผนที่ฝรั่งเศส และเห็นว่าแผนที่ที่พิมพ์ขึ้นในปีคริสตศักราช 1908 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมชุดแรก เนื่องจากถูกยุบตัวไปก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ยังไม่มั่นใจต่อแนวเขตที่ทำขึ้นในแผนที่ ทำให้รศ.ประสิทธิ์ เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ไม่มากนัก ที่ศาลจะตัดสินเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในแผนที่ฝรั่งเศส เพื่อกำหนดพื้นที่ "Vicinity" หรือพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง