ทำไมต้องเสนอให้" ตีความ"คำพิพากษา

12 เม.ย. 56
11:17
126
Logo Thai PBS
ทำไมต้องเสนอให้" ตีความ"คำพิพากษา

โดย เสริมสุข กษิติประดิษฐ์

 ตลอดช่วงสัปดาห์นี้ "ไทยพีบีเอส" เสนอรายงานพิเศษในเรื่อง "คำร้องขอตีความคำตัดสิน ในคดีปราสาทพระวิหารของรัฐบาลกัมพูชา" ซึ่งในวันที่ 15 -19 เมษายน ตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาและไทยจะแถลงด้วยวาจากับองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่วังสันติภาพ หรือ peace palace ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อคำร้องขอตีความคำพิพากษาของศาล ในปี พ.ศ.2505 เป็นคำร้องให้ตีความหลังศาลมีคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชามาแล้วกว่า 50 ปี โดยที่ศาลไม่ตัดสินในเรื่องเส้นเขตแดน การขอตีความเกิดขึ้นหลังเกิดการสู้รบในพื่นที่ชายแดนบริเวณปราสาท ช่วงต้นปี 2554 ซึ่งกัมพูชา เห็นว่าการสู้รบที่เกิดขึ้นเป็นผลจากคำตัดสินในปี 2505 ที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน

 
หลังการสู้รบต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 บริเวณปราสาทพระวิหาร รัฐบาลกัมพูชาได้ทำเรื่องร้องเรียนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  ในช่วงปลายเดือนเมษายน อ้างมาตรา 60 ในธรรมนูญศาล ขอตีความคำตัดสินในปี 2505 ที่ระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา  แต่ไม่ตัดสินในเรื่องเส้นเขตแดน เป็นเหตุให้เกิดข้อขัดแย้งกับไทยในพื้นที่ชายแดน
 
กัมพูชาได้ขอในคำร้อง  ให้ศาลพิจารณาใช้แผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วนหนึ่งต่อสองแสน ซึ่งทำขึ้นในปีคริสตศักราช 1907 เป็นเส้นเขตแดนรอบปราสาทพระวิหาร กัมพูชาเชื่อว่าศาลใช้แผนที่ดังกล่าว ประกอบการพิจารณาในคดี ก่อนมีคำตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา  พร้อมระบุการที่ศาลไม่ตัดสินในเรื่องเขตแดนตามที่ร้องขอ เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดข้อขัดแย้งในพื้นที่รอบปราสาท
 
ระหว่างชี้แจงองค์คณะผู้พิพากษา เดือนพฤษภาคมปี 2554 นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยืนยันรัฐบาลไทยปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลในทุกเรื่อง 
พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อคำร้องตีความให้พิจารณาเส้นเขตแดนรอบปราสาท  บอกให้เห็นถึงความต้องการเข้าครอบครองพื้นที่4.6ตารางกิโลเมตรที่อยู่ในเขตอธิปไตยของไทย 
และเชื่อว่าการสู้รบบนเขาพระวิหาร มาจากการสร้างสถานการณ์ของทางกัมพูชา เพื่ออ้างเป็นเหตุให้ศาลรับคำร้องขอตีความ
 
อดีตผู้ประสานงานทนายความในคดีปราสาทพระวิหาร เห็นว่า การเสนอขอตีความหลังศาลมีคำตัดสินแล้วร่วม50ปี  เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ศ.สมปอง สุจริตกุล อดีตผู้ประสานงาทนายความในคดีปราสาทพระวิหาร 2505 บอกว่า ระหว่างอ่านคำตัดสินในเรื่องมาตราการคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมปี 2554  องค์คณะผู้พิพากษาศาลระบุว่า หากเกิดข้อสงสัยในคำตัดสินของศาล คู่กรณีสามารถใช้ช่องทางมาตรา60 ของธรรมนูญศาล ขอตีความคำตัดสินได้ตลอดเวลา  เนื่องจากไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการขอตีความ
 
ขณะที่ฝ่ายไทยเห็นว่าคำร้องขอตีความ เป็นความพยายามของกัมพูชาให้ศาลตัดสินในเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งศาลไม่ตัดสินในปี 2505 โดย คำพิพากษาของเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505
1/ ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา
2/ ไทยต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ใก้ลเคียงรอบปราสาท
3/ ไทยต้องคืนโบราณวัตถุที่โยกย้ายออกจากตัวปราสาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง