ชุมนุมท้องถิ่นร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน

12 เม.ย. 56
15:06
363
Logo Thai PBS
ชุมนุมท้องถิ่นร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน

3 ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน หรือแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศ และกำลังสร้างความกังวลใจให้กับ หน่วยงานด้านอนุรักษ์ คือ การถูกลักขโมย บุกรุกทำลาย และปล่อยแหล่งโบราณสถานให้ทิ้งร้าง ต้นปีที่ผ่านมา กรมศิลปากรมีแนวคิดที่จะขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพิ่มอีก 2,000 แห่ง เพื่อเสริมมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายให้ครอบคลุมขึ้น แต่หากจะคงคุณค่าได้อย่างยั่งยืน กำลังสำคัญในการสอดส่องดูแลมรดกของชาติให้คงอยู่ก็คือท้องถิ่น

โบราณสถานทั่วประเทศ ที่กรมศิลปากรสำรวจพบ มีกว่า 8,000 แห่ง แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเพียง 2,000 แห่งเท่านั้น จึงมีความพยายามที่จะปิดช่องโหว่ ด้วยการขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่เหลือให้ถูกต้อง เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว แน่นอนว่ามรดกของชาติเหล่านี้ ก็จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปี 2535 แต่ที่ผ่านมา พบว่ายังคงดำเนินการได้ล่าช้าจากหลายอุปสรรค โดยเฉพาะสัดส่วนการขึ้นทะเบียน ที่ตามกฎหมายแล้ว อนุญาตให้ประกาศเป็นโบราณสถานได้ไม่เกิน 150 แห่งต่อปีเท่านั้น 

 
ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน ถูกทำลายกว่า 10 แห่ง และมีโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวนมากถูกปรับแต่งสภาพ ขณะที่พื้นที่โดยรอบพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง อย่างอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจขาดคุณสมบัติในการเป็นมรดกโลก เนื่องจากมีช่องโหว่ในการควบคุมด้านผังเมือง จนมีการก่อสร้างบ้านและอาคาร ที่เท่าหรือสูงกว่าเจดีย์สำคัญๆ ขณะที่บางจุดสีของอาคารที่อยู่ใกล้โบราณสถานก็ยังฉูดฉาดเกินไป 
 
ที่สำคัญกว่าก็คือเรื่องของสำนึกอนุรักษ์ ที่น่าจะต้องเกิดขึ้นในท้องถิ่น เริ่มเลือนหายไปกลายเป็นมิติของรายได้ที่เป็นตัวชี้วัดคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม หลายแห่งมีเงินมากพอที่จะปรับปรุง แต่ก็ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนรอบแหล่งโบราณคดีและย่านอนุรักษ์ อย่างที่เกิดขึ้นกับตลาดน้ำขึ้นชื่อในจังหวัดสมุทรสงคราม 
 
แต่ไม่ใช่ว่าการจัดการโบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีในบ้านเราจะล้มเหลวไปซะทีเดียว มีตัวอย่างท้องถิ่นเข้มแข็งที่จ.ลำปาง พวกเขาใช้วิถีและวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิม เป็นตัวเชื่อมวัดกับชุมชนไว้ด้วยกัน เพื่อปกป้องรักษาสมบัติทางธรรมในวัดเก่าแก่ ที่มีอายุกว่า 1,300 ปี หลายชิ้นเพื่อส่งต่อให้กับลูกหลาน ที่สำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมที่พวกเขาสร้างขึ้น ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลกอย่างยูเนสโก้
 
แผนการจัดการโดยชุมชน ของชุมชนปงสนุก ไม่เพียงส่งผลเชื่อมร้อยโบราณสถานกับคนในชุมชนไว้ด้วยกันเท่านั้น ศักยภาพในการจัดการด้วยตัวเอง จนเป็นที่ยอมรับระดับสากลนี้ เปิดมุมมองให้หน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรม นักวิชาการ และชุมชนรอบโบราณสถานที่สนใจหลายแห่ง เข้ามาศึกษา และมีแนวคิดที่จะนำไปใช้พัฒนาโบราณสถานเก่าที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ในพื้นที่อื่นๆ ให้ดีขึ้นด้วย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง