ภาพรวมกัมพูชาแถลงด้วยวาจาคดีพระวิหารในศาลโลก

ต่างประเทศ
15 เม.ย. 56
16:30
99
Logo Thai PBS
ภาพรวมกัมพูชาแถลงด้วยวาจาคดีพระวิหารในศาลโลก

วันแรกจากทั้งหมด 4 วันที่ตัวแทนฝ่ายไทย และกัมพูชาต้องเข้าแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ วันนี้ตัวแทนฝ่ายกัมพูชาเริ่มแถลงเป็นฝ่ายแรก ใช้เวลา 2 ช่วง ตั้งแต่บ่าย 15.00 น. และจบในช่วงแรก เวลา 18.15 น. ประมาณ 3 ชั่วโมง และเริ่มขึ้นแถลงช่วงที่ 2 เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.

ผู้พิพากษาศาลโลกนั่งบัลลังก์ครบทั้ง 15 คน รวมทั้งมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจของไทย และกัมพูชาอีกฝ่ายละ 1 คน รวมเป็น 17 คน ในศาลโลกก่อนเริ่มต้นการแถลงดด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ทักทายกับคณะผู้แทนฝ่ายไทย ที่นำโดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายฮอร์ นัม ฮง เป็นคนแรก ที่เริ่มต้นแถลงด้วยวาจาวันนี้ ระบุถึงความจำเป็นยื่นเรื่องนี้ กลับมาให้ศาลโลกพิจารณาแม้ระยะเวลาผ่านมาถึง 50 ปี ตีความหมายและขอบเขตพื้นที่ จากคำพิพากษา เมื่อปี 2505 เพราะสาเหตุของความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อ ปี 2551 หลังจากกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยคัดค้านทำให้เกิดขัดแย้ง

นายฮอร์ นัม ฮง อ้างถึงสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ความแข็งกร้าว นำมาสู่การตอบโต้ด้วยอาวุธ เสียหายต่อตัวปราสาทและมีผู้เสียชีวิต เพราะไม่ยึดคำพิพากษาเดิม กัมพูชาจึงอยากให้ตีความให้ชัดเจนว่ามีอธิปไตยในพื้นที่ปราสาท จึงใช้แผนที่ที่เสนอต่อศาลโลก

นายฌอง มาร์ค ซาเวล ทนายความฝ่ายกัมพูชาคนที่ 1 กล่าวว่า ไทยตีความคำพิพากษาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งยอมรับไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าไทยมีน้ำเสียงดูถูก เสียดสี และถากถาง โดยใช้ข้อความว่าไทยมีลักษณะกลับไปกลับมาเหมือน "Alice in wonderland" ส่วนทนายความฝ่ายกัมพูชา คนที่ 2 คือ เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน ระบุถึงวัตถุประสงค์ของกัมพูชาชัดเจน คือต้องการให้มีการตีความโดยอาศัยธรรมนูญข้อ 60 ของศาลโลก ไม่ใช่การขอตีความเพื่อขอทำซ้ำ หรือล้มล้างคำตัดสินเดิม

เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน กล่าวหาว่า ไทยละเมิดคำพิพากษาของศาลโลก ไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ ตีความแผนที่เอง และไม่เคารพคำพิพากษา จึงขอให้ศาลอธิบายความของขอบเขต เพราะทำให้เกิดข้อพิพาทอย่างชัดเจนจากการตีความแผนที่ ส่วนทนายความคนที่ 3 ในช่วงแรก คือนาย ร็อดแมน บันดี ระบุว่า ศาลต้องตีความคำพิพากษา ไม่ใช่การฟ้องคดีใหม่ เพราะไทยเพิกเฉย และ 2 ประเทศมีความเห็นต่างกันเรื่องของการตีความ

ร็อดแมน บันดี ระบุว่า ฝ่ายไทยไม่ยอมรับความพ่ายแพ้จากคดีศาลโลกเมื่อปี 2505 นอกจากนั้น หลังจากศาลโลกมีคำตัดสิน ชาวกัมพูชาได้ไปตั้งรกราก สร้างวัด ตลาด บริเวณภูมะเขือ ใกล้ปราสาทพระวิหาร แต่ไทยไม่ได้คัดค้าน แม้ไทยเคยมีหนังสือโต้แย้ง แต่ก็เป็นเรื่องสภาพแวดล้อม รัฐบาลไทยสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้โต้แย้งเรื่องเขตแดน แต่ท่าทีของฝ่ายไทยเปลี่ยนไปเพราะว่าปัญหาการเมืองหลังเกิดรัฐประหาร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง