นักวิชาการชี้หากศาลโลกรับคำร้อง "กัมพูชา" กรณีเขาพระวิหารอาจส่งผลกระทบวงกว้าง

การเมือง
18 เม.ย. 56
04:23
221
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้หากศาลโลกรับคำร้อง "กัมพูชา" กรณีเขาพระวิหารอาจส่งผลกระทบวงกว้าง

นักวิชาการอิสระ ระบุว่า หากศาลโลกรับตีความตามคำร้องของกัมพูชา โดยยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตร หรือแผนที่ภาคผนวก 1 อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง มากกว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพราะแผนที่ดังกล่าวระบุถึงพื้นที่ตลอดเส้นแนวเขตแดนเทือกเขาพนมดงรัก นอกจากนี้ยังย้ำด้วยว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาในรูปแบบใด ก็ไม่อาจบ่งชี้ผลแพ้ชนะของชาติใดได้ เพราะสิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทั้ง 2 ชาติในการนำไปปฏิบัติ

นายวีรวัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นผ่านรายการที่นี่ไทยพีบีเอส เมื่อคืนที่ผ่านมา หลังฝ่ายไทยให้ถ้อยคำต่อศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร โดยระบุว่า หากศาลโลก รับพิจารณาคำร้องในการตีความเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยยึดเอาพื้นที่ 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตร หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ในการพิจารณา จะกระทบต่อเส้นเขตแดนที่แบ่งเทือกเขาพนมดงรักตามสันปันน้ำ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงการพิจารณาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเท่านั้น

นายวีรวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า แผนที่ที่กัมพูชาใช้กล่าวอ้างนี้ เป็นแผนที่ที่ขึ้นมานานโดยใช้วิธีการเขียนด้วยมือ ไม่ได้มีข้อยืนยันตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น แผนที่ทางอากาศ หรือการกำหนดพิกัดพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นป่าเขา จึงเห็นว่า หากศาลจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจริง น่าจะมีคำนิยาม หรือคำจำกัดความ ให้มีผลเฉพาะพื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้คาดการณ์แนวทางการพิจารณาของศาลโลกว่า สามารถเป็นไปได้หลายแนวทางทั้งการเห็นชอบตามข้อเสนอของกัมพูชา โดยการรับพิจารณาเส้นเขตแดน และไม่รับพิจารณาตามคำชี้แจงของไทย ที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของศาล และข้อตกลงที่ยังไม่มีข้อสรุประหว่าง 2 ประเทศ

ขณะเดียวกันกัมพูชาอ้างว่า หากไม่พิจารณาเส้นเขตแดน จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนไทยกลับมองในมุมตรงข้ามกันว่า หากมีคำตัดสินไปในทิศทางดังกล่าว อาจเป็นชนวนเหตุสำคัญของความร้าวฉานระหว่างประเทศได้ กรณีนี้ นายวีรวัฒน์ มองว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการนำมาใช้และปฏิบัติตาม ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย คำตัดสินก็ไม่ถือเป็นจุดสิ้นสุด

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า คำชี้แจงของฝ่ายไทยเรื่องอำนาจศาล มีความชัดเจนพอสมควรแล้วว่า สิ่งใดที่ศาลไม่ได้พิพากษาเมื่อปี 2505 สิ่งนั้นศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะตีความ และสิ่งที่ศาลไม่ได้พูดถึงในปี 2505 ที่ชัดเจนมาโดยตลอด คือไม่อยู่ในบทปฏิบัติการหรือคำสั่ง คำพิพากษา คือ เรื่องความถูกต้องของแผนที่ และเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของฝ่ายไทย ที่ก่อนหน้านี้มักจะพูดแบบตั้งรับ แต่ครั้งนี้หลายขั้นตอนก็ทำให้เห็นชัดว่าไทยก็รุกกลับได้ หลังจากนี้จึงต้องจับตามองการชี้แจงของกัมพูชารอบสุดท้ายอีกครั้งว่าจะมีท่าที และแนวทางตอบโต้ไทยอย่างไร

สิ่งที่ไทยทำได้ดีในการชี้แจงเมื่อวานนี้ ก็คือเรื่องอำนาจศาล รวมถึงการชี้แจงให้ศาลเห็นได้ว่า แผนที่ที่กัมพูชากล่าวอ้างว่าเป็นความถูกต้องนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งแม้กระทั่งกัมพูชาเอง ก็รู้ดีอยู่แล้วว่า แผนที่นั้นผิดพลาด หลงทิศเรื่องห้วยโอตาเซม

ดังนั้น การเอากรณีนี้มาแสดง ก็เป็นการส่งสัญญาณให้ศาลรู้ว่า ศาลจะเกินเลยไปพิจารณาใช้แผนที่ที่ผิดพลาดไม่ได้ แต่หากศาลโลก อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2505 ก็ถือว่าไทยเสมอตัว แต่ถ้าศาลกำหนดเส้นเขตแดน หรือแผนที่ใหม่ ก็ถือว่าน่าเป็นห่วง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง