นักรัฐศาสตร์หวั่นคดีปราสาทพระวิหาร นำไปสู่ความขัดแย้ง 2 ประเทศรอบใหม่

การเมือง
18 เม.ย. 56
12:16
73
Logo Thai PBS
นักรัฐศาสตร์หวั่นคดีปราสาทพระวิหาร นำไปสู่ความขัดแย้ง 2 ประเทศรอบใหม่

การแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชากรณีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างแสดงความกังวลว่า จะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ขณะที่ชาวกัมพูชาที่อาศัยตามแนวชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ สนใจติดตามข่าวการให้ถ้อยแถลงของทั้ง 2 ประเทศ

ชาวกัมพูชาที่เข้ามาค้าขายภายในตลาดการค้าชายแดนช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ติดตามข่าวการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของกัมพูชา โดยระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเจรจาเรื่องเขตแดนร่วมกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ติดตามการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาตลอดทั้ง 2 วันระบุว่า แม้ศาลโลกจะยังไม่ตัดสินชี้ขาดในขณะนี้ แต่ผลที่ตามมาคือส่งผลกระทบด้านการทูต ความมั่นคงและเขตแดน โดยเฉพาะหากเกิดการกระทบกระทั่งในระยะนี้อาจนำไปสู่การปิดด่านพรมแดน รัฐบาลจึงควรชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่ระบุว่า เป็นห่วงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อาจนำไปสู่การขัดแย้งรอบใหม่ หากศาลโลกตัดสินใจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และเห็นว่าปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศควรใช้กรอบทวิภาคีเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน

ขณะที่หลังการประชุมประจำเดือนเมษายน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ยืนยันถึงการสนับสนุนทั้งบุคลากรและข้อมูล เพื่อให้คณะผู้แทนฝ่ายไทยต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารอย่างเต็มที่ และระบุว่า กองทัพของไทยและกัมพูชายังคงความสัมพันธ์ต่อกันเป็นอย่างดี

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงความพึงพอใจที่คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้กำหนดถ้อยแถลงต่อศาลโลกในครั้งแรกได้ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งนี้ยังกล่าวแสดงความพร้อมที่จะส่งมอบเอกสารหลักฐาน เพื่อชี้พิกัดอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ ภายในวันที่ 26 เมษายนตามที่ศาลโลกร้องขอ

ส่วนนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าถ้อยแถลงของไทยที่ประกอบด้วยการอ้างอิงถึงพยานหลักฐานมีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของกัมพูชาได้ โดยเฉพาะกรณีกล่าวหาไทยรุกรานที่ไม่เป็นจริง หรือกรณีเอ็มโอยู 2543 ก็ถือเป็นกลไกที่ยอมรับร่วมกันมาก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง