ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันมีอำนาจ รับคำร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

การเมือง
19 เม.ย. 56
14:45
62
Logo Thai PBS
ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันมีอำนาจ รับคำร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

ศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันในอำนาจหน้าที่รับคำร้องเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ หลังพรรคเพื่อไทยมีมติไม่ยอมรับอำนาจศาลและยืนยันในอำนาจของรัฐสภาต่อกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนกรณีเดินหน้าผลักดันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้นำฝ่ายค้าน เชื่อว่า จะนำมาซึ่งการเผชิญหน้าของคู่ขัดแย้งในสังคม

หลังเข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กรณีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปฏิบัติหน้าที่มิชอบเสร็จสิ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า กังวลใจกับการเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกล่าวย้ำในหลักการเดิมที่เคยแสดงเจตนาไว้พร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่าจะไม่ขอรับประโยชน์จากร่างกฎหมายยกเว้นความผิด

ขณะเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 เนื่องจากเห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า หากประชาชนทราบถึงการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ จึงเชื่อว่า ส.ส.ผู้เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานี้ อาจเข้าข่ายกระทำการต้องห้าม และพรรคก็มีส่วนรู้เห็นด้วย

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง แต่ได้สั่งการให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้ยังได้กล่าวแสดงความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ แต่ทิศทางการดำเนินการคงต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายสรุปในสัปดาห์หน้า และจนถึงขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงยืนยันในอำนาจหน้าที่ โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักการและข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ยังคงดำเนินการต่อไป แม้พรรคเพื่อไทย รวมถึง ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง มีมติไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรมนูญและยืนยันอำนาจการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาก็ตาม

หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุว่า หากผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจ ซึ่งศาลมีอำนาจในการดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาได้ ส่วนจะเรียกผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วยวาจาในขั้นตอนการไต่สวนหรือไม่ ยังคงขึ้นอยู่กับดุลพินิจต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง