บอร์ดคุมคุณภาพ สปสช. หนุนตั้ง"เครือข่ายโรคอัตราตายสูง" ดูแลป่วยโรคหัวใจ-หลอดเลือด

สังคม
23 เม.ย. 56
08:40
113
Logo Thai PBS
บอร์ดคุมคุณภาพ สปสช. หนุนตั้ง"เครือข่ายโรคอัตราตายสูง" ดูแลป่วยโรคหัวใจ-หลอดเลือด

บอร์ดควบคุมคุณภาพบริการสาธารณสุข สปสช. หนุนให้มีเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมส่งผลให้มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นหลังได้รับการบริการทันท่วงทีในการรักษา

 รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการฯชุดนี้เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากมีข้อมูลระบุว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราการตายติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่มีอัตราการตายสูงที่สุดในประเทศไทย และยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นโรคที่ใช้งบประมาณในการรักษาสูงมากอีกโรคหนึ่งด้วย การให้ความสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง เพื่อจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่า และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาในแต่ละระดับหน่วยบริการ 

 
ประธานคณะกรรมการฯกล่าวว่า  สปสช.ให้ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูงซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552  โดยมีนโยบายสนับสนุนการให้บริการโรคที่มีอัตราการตายสูง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง  จากผลการดำเนินงานเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ปี 2552-2555 พบว่า มีหน่วยบริการแม่ข่ายที่มีศักยภาพให้บริการได้จำนวน 18 แห่งและมีหน่วยบริการลูกข่ายที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดให้กับผู้ป่วยในโรคดังกล่าวได้ถึง 265 แห่ง ขณะที่มีหน่วยบริการที่เป็นลูกข่ายที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่สามารถวินิจฉัยโรคได้จำนวน 650 แห่ง
 
ตั้งแต่ในปี 2553-2555  พบว่า มีหน่วยบริการให้ยาละลายลิ่มเลือดและสวนหัวใจกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือ ปี 2553 คิดเป็นร้อยละ43.92 ปี 2554 ร้อยละ 49.09 และปี 2555 จำนวน 52.77  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีนโยบายการให้บริการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการในโรคค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตลดลง  เนื่องจาก โรคที่ทำให้เกิดความพิการในระดับต้นๆ  ซึ่งเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย เมื่อเกิดอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแล้ว การรักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และทุพพลภาพของผู้ป่วยลงได้  
 
รศ.ประสบศรีกล่าวว่า การพัฒนาให้มีเครือข่ายบริการให้กับผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้รวดเร็วและทันเวลา และมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยที่ไม่ต้องล้มละลายจากครัวเรือนอีกด้วย  ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งทั้งนี้เกิดความสำเร็จและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายหน่วยบริการ  โดยขอให้ผู้ป่วยมั่นใจหน่วยบริการที่เป็นเครือข่ายบริการนั้นได้คุณภาพ มาตรฐานในการดูแลเพราะมีคณะกรรมการควบคุมฯดูแลและขอสนับสนุนและชื่นชมในการจัดให้มีเครือข่ายบริการทางด้านโรคค่าใช้จ่ายสูง   


ข่าวที่เกี่ยวข้อง